Sunday, February 10, 2008

Avian Orthopedics

โดย สพ.ญ. ภาวิณี เจริญยงอยู่

คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Introduction

ปัญหาระบบโครงสร้างร่างกายสำหรับสัตว์ตระกูลนกที่เข้ามาที่ที่คลีนิคหรือโรงพยาบาล ส่วนมากจะเป็นปัญหาเกี่ยวกับการได้รับอุบัติเหตุ เช่น การกระตุกจากโซ่ที่ล่ามไว้ โดนใบพัดลม บินชนกระจก หรือแม้กระทั่งการจัดการที่ผิดพลาดในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การให้อาหารที่ไม่ตรงต่อความต้องการ ตัวอย่างเช่นนกบางชนิดเป็นสัตว์ล่าเหยื่อ ถ้านำมาเลี้ยงโดยให้กินแต่เนื้อสัตว์ จะทำให้เกิดการสร้างของกระดูกที่ผิดปกติได้ เพราะในธรรมชาติสัตว์จะได้แคลเซี่ยมจากระดูกของสัตว์ที่เป็นเหยื่อ การจัดการสิ่งแวดล้อมไม่เหมาะสม และอีกหลายๆสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาในสัตว์ตระกูลนกได้ การให้การรักษาที่ดีที่สุดคือการกำจัดสาเหตุของการเกิดความผิดปกติดังกล่าว การให้คำแนะนำที่ดีเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับการป้องกันการเกิดปัญหาซ้ำๆ แต่กระบวนการทั้งหมดนี้จะเกิดได้อย่างสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อเราทราบลักษณะการเลี้ยงจากเจ้าของ ดังนั้นการซักประวัติจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการรับเคสสัตว์เลี้ยงพิเศษชนิดต่างๆรวมทั้งนกด้วย

 Anatomy and Physiology

(ขออภัยข้อขัดข้องทางเทคนิค วันพรุ่งนี้จะนำรูปมาเพิ่มเติม หมอกานต์)





รูปที่ 1: ภาพแสดงโครงสร้างทางกายวิภาคของกระดูกในสัตว์ตระกูลนก

นกมีหลายชนิดทั้งที่บินได้และบินไม่ได้ สำหรับนกที่บินได้จะมีวิวัฒนาการของการสร้างของกระดูกให้มีน้ำหนักเบาเพื่อเหมาะสมสำหรับการปรับตัวเพื่อการดำรงชีวิต กระดูกเชิงกราน(pelvic girdle), กระดูกซี่โครงบางชิ้น (rib), กระดูกต้นแขน (humerus) และกระดูกต้นขา (femur) เป็นกระดูกที่มีโพรงอากาศอยู่ด้านใน (pneumatic bone) กระดูกนกจะมีผนังชั้นนอกสุด(cortex) บางแต่มีการสะสมของแคลเซี่ยมมากกว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม การรักษาปัญหากระดูกหักในนกขึ้นกับหลายปัจจัย การหายแบบ primary bone healing มักเกิดขึ้นกับเคสที่การหักไม่ซับซ้อนและสามารถลดการเคลื่อนที่ของตำแหน่งที่หักได้มากที่สุด แต่ทั้งนี้โดยส่วนมาก เกือบจะทั้งหมดสำหรับนกที่มีปัญหาเรื่องกระดูกหักจะเป็นการหายแบบ secondary หรือ callus healing  เนื่องจากจะมีช่องว่างระหว่างกระดูกมาก หรือมีการเคลื่อนที่เพียงเล็กน้อยระหว่างกระดูกบริเวณที่หัก ดังนั้นการสร้าง endosteal callus ในนกจะใช้เวลาน้อยกว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม กล่าวคือ bone healing ในนกจะใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ (ในกรณีที่ไม่มีปัญหาอื่นๆแทรกซ้อนเช่น เกิดการติดเชื้อของกระดูก) แต่การหายแบบ non-union สามารถเกิดขึ้นได้ โดยการรักษาคือการทำ graft ในนกมีการสร้าง endosteal callous ก่อนการสร้าง external callous ทำให้การแปรผลจากภาพรังสีจึงแตกต่างจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 

การสังเกตอาการระยะไกล

เป็นหนึ่งในขั้นตอนการตรวจสัตว์ป่วยที่เราสามารถทำได้ก่อนที่จะสัมผัสตัวสัตว์ ทั้งนี้ยังเป็นการลดระยะเวลาการจับบังคับ ซึ่งจะทำให้สัตว์ป่วยเครียดได้ ยกตัวอย่างเช่น ปัญหาบริเวณปีกจะแสดงอาการผิดปกติคือ ถ้ารอยโรคอยู่บริเวณกระดูกด้านบนเช่น Humerus จะสังเกตได้ว่าปลายปีกจะยกขึ้น แต่ถ้ารอยโรคอยู่บริเวณกระดูกด้านล่าง

คือ Radius and Ulna ปลายปีกจะห้อยต่ำลง


Method of fracture repair

การเลือกวิธีการรักษาขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น  

  • หน้าที่ของนก เช่นมีหน้าที่เป็นนกเลี้ยง พ่อแม่พันธุ์ หรือเป็นนกป่าที่อาศัยในธรรมชาติ ข้อควรระวังในการรักษากระดูกบริเวณปีกนก เพราะจะทำให้เสียหน้าที่เนื่องจากเป็นอวัยวะที่มีหน้าที่....ตอนผสมพันธุ์
  • ลักษณะและชนิดของความเสียหายที่เกิดขึ้น 
  • ตำแหน่งของความเสียหายที่เกิดขึ้น
  • อายุและน้ำหนักของนก

Radiology for diagnosis

การวินิจฉัยความผิดปกติที่เกิดขึ้นอาจจำเป็นต้องใช้หลายวิธีร่วมกัน เช่น การซักประวัติ การสังเกตอาการระยะไกล (สำคัญในนกเพราะตรวจวินิจฉัยทำได้ไม่มาก และเป็นการลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นเนื่องจากการจับบังคับ) การตรวจร่างกาย ฯลฯ การวินิจฉัยด้วยภาพรังสี เป็นอีกวิธีการวินิจฉัยหนึ่งที่จำเป็นสำหรับสัตว์ป่วยที่มีปัญหาเรื่องกระดูก สำหรับหลักการของการถ่ายภาพรังสีในนกจะคล้ายกับสัตว์อื่นๆ ในกรณีที่นกมีขนาดเล็กไม่ต้องการการทะลุทะลวงที่สูงมาก ดังนั้นควรลด kVp ให้ต่ำลง แต่ปรับ mA ให้สูงขึ้น และใช้เวลาให้น้อยที่สุด การประยุกย์ใช้เทปที่มีความเหนียวปานกลาง แทนการใช้มือจับโดยตรง (ดังรูปที่ 2) เป็นวิธีการที่นิยมสำหรับการถ่ายภาพรังสีในนกสำหรับนกขนาดเล็ก 





                                                                                      

 

รูปที่ 2 : การจัดท่าสำหรับนกเพื่อการถ่ายภาพรังสี a). ventrodorsal view b).lateral view

Fracture repair technique

กระดูก Humerus

การหักส่วนมากจะเป็นแบบ spiral, unstable และโดยมากจะมีแผลเปิดร่วมด้วย การแก้ไขที่สามารถทำได้คือ

  • figure-of-eight bandage (ดูรูปที่ 2) เป้นการพันปีกเพื่อลดการเคลื่อนไหว ซึ่งเป็นวิธีที่นิยมมากที่สุด 
  • การใส่เหล็ก (IM pin) ร่วมกับ การพันปีกแบบ figure-of-eight
  • Type I ESF
  • Type I ESF ร่วมกับ IM pin




รูปที่ 2 : การพันปีกด้วยวิธี figure-of-eight bandage

กระดูก Radius/ Ulna

  • figure-of-eight bandage
  • การใส่เหล็ก (IM pin) ร่วมกับ การพันปีกแบบ figure-of-eight
  • ESF ในกรณีเกิดการหักที่มากกว่า 1 ชิ้น

กระดูก Femur

เนื่องจากกระดูกชิ้นนี้มีกล้ามเนื้อห่อหุ้มมาก และอยู่ในตำแหน่งที่การทำ external coaptation มักไม่ค่อยได้ผล ดังนั้นวิธีการที่แนะนำคือ

  • ในนกที่มีขนาดเล็ก ให้จำกัดบริเวณเพื่อลดการเคลื่อนที่และการขยับของกระดูก
  • ในนกขนาดใหญ่ใช้วิธี IM pin ร่วมกับ ESF half pin

กระดูก Tibiotarsus

  • sandwich tape spint (ดูรูปที่ 3) เป็นวิธีการที่ทำง่ายและใช้ได้ผลดีในนกที่มีขนาดเล็ก
  • External coaptation
  • IM pin ร่วมกับ External coaptation

กระดูก digits

  • snowshoe splint (ดูรูปที่ 4) 





รูปที่ 3 : sandwich tape spint วิธีการที่นิยมใช้กับการหักของกระดูก tibiotarsus ในนกขนาดเล็ก







รูปที่ 4 : Snowshoe splint สำหรับการหักที่กระดุกนิ้วเท้าในนก

           ในนกมีการสร้าง endosteal callous ก่อนการสร้าง external callous ทำให้การแปรผลจากภาพรังสีแตกต่างจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ส่วนการพยากรณ์โรคทำได้เช่นเดียวกับในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั่วไป กล่าวในหลักการคือสามารถประเมิณได้จาก ความเสียหายที่เกิดขึ้น ตำแหน่งของกระดูกที่หัก การไหลเวียนของเลือดและสารอาหารมายังตำแหน่งของกระดูกที่หัก การจัดการเพื่อทำให้บริเวณที่หักมีความคงที่ การจำกัดการเคลื่อนไหว  เป็นต้น

นอกจากปัญหาอุบัติเหตุ ที่พบมากเป็นอันดับหนึ่งแล้ว ปัญหาการได้รับสารอาหาร และแร่ธาตุที่ไม่สมดุลก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่สามารถพบความผิดปกติของกระดูกได้ ซึ่งโรคที่พบบ่อยๆ ได้แก่ Metabolic bone disease ซึ่งอาการที่จะแสดงให้เห็นคือสัตว์จะอ่อนแอ, กระดูกบาง,  กระดูกหักง่าย(กว่าปกติ)  เกิดภาวะไข่ค้าง ตลอดจนสัตว์ อาจจะแสดงอาการชักเกร็งได้ นอกจากนี้ช่วงการให้ไข่ของสัตว์ปีกเป็นอีกช่วงเวลาหนึ่งที่จะพบว่ามีการดึงแคลเซียมจากกระดูกไปใช้ในการสร้างไข่มาก ทำให้กระดูกเปราะบางได้มากกว่าช่วงเวลาปกติ 


ทั้งนี้ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความแข็งแรงของกระดูกได้ แก่ แคลเซียม, ฟอสฟอรัส และวิตามิน ดี ซึ่งวิตามินดีที่เข้าร่างกายจะนำไปเก็บที่ตับเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้จะเก็ยที่ผิวหนัง สมอง ตับอ่อน กระดูก และลำไส้ได้ แต่วิตามินดีจะเสียง่ายเมื่อถูกออกซิเดชัน วิตามิน ดี ละลายในตัวทำละลายไขมันและไม่ละลายในน้ำ โดยอาหารที่มีวิตามิน ดี พบได้ทั้งพืช ผัก ผลไม้ และในเนื้อเยื่อของสัตว์ แต่ดูเหมือนจะเป็นวิตามินชนิดเดียวที่มีอยู่น้อยมากในพืชและผัก ที่พบมากได้แก่น้ำมันตับปลา ไขมัน นม เนย ไข่แดง ปลาทู ปลาที่มีไขมันสูงเช่นปลาแซลมอน  ความสำคัญของวิตามิน ดี คือช่วยในการดูดซึมแคลเซียมและฟอสฟอรัส ควบคุมปริมาณ แคลเซียมและฟอสฟแรัสในกระแสโลหิตไม่ให้ต่ำลงจนถึงขีดอันตราย ช่วยในการสังเคราะห์ mucopolysaccharide ซึ่งเป็นสารที่จำเป็นในการสร้างคอลลาเจน ร่างกายสัตว์จะรับวิตามินดีได้สองทางคือ การกินซึ่งจะดูดซึมที่ลำไส้ และโดยการที่ผิวหนังได้รับแสงแดดแล้วอุลตราไวโอเลตจากแสงอาทิตย์จะไปกระตุ้นคอเลสเตอรอลชนิดที่อยู่ในผิวหนังให้เปลี่ยนเป็นวิตามินดี


Reference

Altman, Clubb, Dorrestein, Quesenberry. Avian Medicine and surgery

Glenn, Olsen, Susan, Orose. Manual of Avian medicine.

Post Graduation Foundation In Veterinary science of the University of Sydney Distant education of university 

            of Sydney. Avian medicine, Module 5, orthopedic surgery.

Official ZWVST Blog Discussion Topic

Read more!

Saturday, February 2, 2008

มหากาพย์...นกแร้งดำหิมาลัย ตอนที่ 3

กาพย์สุดท้าย โชคดีนะ...อนาคิน

“ อย่าเอาชนะ...ในสิ่งที่เอาชนะไม่ได้ และสิ่งที่ควบคุมได้...คือสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ ” เป็นหลักปรัชญาที่ผมเข้าใจอย่างถ่องแท้หลังกลับมาจากประเทศมองโกเลีย เพราะจากนั้นตลอดหนึ่งเดือนต็มที่คณะทำงาน“ โครงการฟื้นฟูแร้งดำหิมาลัยเพื่อปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ “ นำโดยอาจารย์ไชยยันต์ เกษรดอกบัว ได้พยายามอย่างมากที่จะเจรจาต่อรองอย่างเป็นทางการ ไถ่ถามเรื่องการนำนกแร้งดำหิมาลัย ต่อเครื่องบินผ่านที่ประเทศเกาหลีใต้ เพื่อไปยังประเทศมองโกเลีย แต่สุดท้ายคำตอบมีแต่ความเงียบและต้องรอต่อไป อีกทั้งเราได้ต้อนรับสมาชิกใหม่ เป็นนกแร้งสีน้ำตาลหิมาลัย ( อัศวินเจได ) ทั้ง ๔ ตัว จากคุณโกวิท สันตจิตร หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าพัทลุง จังหวัดพัทลุง และคุณเกรียงศักดิ์ ศรีบัวรอด หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าคลองแสง จังหวัดสุราษฎ์ธานี สังกัดกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช มอบหมายให้ดูแลและพื้นฟูสุขภาพเพื่อปล่อยคืนสู่ธรรมชาติต่อไป หลังจากจับตรวจสุขภาพแล้ว ผมได้ปล่อยให้อยู่รวมกับเจ้าอนาคิน เพื่อสร้างความสัมพันธ์ทางสัมคมนกแร้ง เช่น ทะเลาะกันเพื่อแย่งอาหารหรือสู้กันเพื่อชิงตำแหน่งจ่าฝูง ฝึกฝนและทบทวนสัญชาติญาณนกป่าให้กลับมาใช้งานได้อีกครั้ง

ปลายเดือนเมษายน พ.ศ.๒๕๕๐ หลังจากทุกคนในคณะทำงาน ฯ ได้ปรึกษากันว่า ถึงเวลาที่เราควรจะปล่อยนกแร้งทั้งหมดในประเทศไทย ด้วยเพราะไม่มีทางเลือกและเป็นช่วงปลายฤดูนกอพยพกลับแล้ว แถมปีนี้ฤดูฝนก็เข้ามาเร็วกกว่าปกติ ฉะนั้นโอกาสที่นกแร้งทั้งหมดจะบินอพยพกลับบ้านด้วยตนเอง ก็ลดลงเรื่อย ๆ และเราก็เห็นพ้องต้องกันว่า “ จะไม่ยอมให้นกทั้งหมดต้องอยู่ในกรงเลี้ยงไปตลอดชีวิต “ เพราะพวกเขาเป็นนกอพยพผ่านในฤดูหนาว และไม่ใช่นกประจำถิ่นของประเทศไทย จึงไม่มีประโยชน์ใด ๆ ที่จะขังไว้ในกรงเพื่อจับคู่ผสมพันธุ์แต่อย่างใด อีกทั้งหลังจากที่ผมได้ไปดูสถานที่ทำรังวางไข่จริง ๆ ของนกแร้งที่ประเทศมองโกเลียมาแล้ว พบว่าสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย ไม่เหมาะสมกับการสืบพันธุ์ของนกแร้งดำหิมาลัยและนกแร้งสีน้ำตาลหิมาลัยด้วยประการทั้งปวง

ก่อนหน้านี้ผมก็ได้เดินทางไปดูสถานที่ปล่อยนกแร้งไว้หลายที่ ไม่ว่าจะเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี หรืออุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ และภูเขาสูง ( ดอย ) ต่าง ๆ อีกหลายแห่งทางภาคเหนือของประเทศไทย สุดท้ายผมเสนอคณะทำงาน ฯ ว่าควรจะเป็น “ ดอยลาง อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ” ด้วยเพราะเป็นภูเขาที่มีระดับความสูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง มากกว่าสองพันเมตร , อยู่ติดชายแดนไทยพม่า ซึ่งมีการล่าสัตว์ค่อนข้างน้อย , ไม่ใช่สถานที่ท่องเที่ยว ซึ่งมีคนพลุกพล่านรบกวนนก , อยู่ไม่ห่างจากพรมแดนประเทศจีนเท่าใดนัก , สภาพภูมิอากาศเหมาะสมกับนกแร้งที่จะอาศัยอยู่ , เดินทางสะดวกและมีรายงานการพบนกแร้งสีน้ำตาลหิมาลัยในบริเวณนี้ มาเป็นระยะ ๆ ถึงแม้ความจริงแล้ว “ ดอยลาง “ ที่เหล่านักดูนกเรียกขานและรู้จักกันเป็นอย่างดีนั้น จะอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติผ้าห่มปก และเป็นเทือกเขาหนึ่งของดอยผ้าห่มปก ซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันตกและชิดชายแดนไทย - พม่ามากกว่า สรุปทางคณะทำงาน“ โครงการฟื้นฟูแร้งดำหิมาลัยเพื่อปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ “ จึงเบนเข็มมาเตรียมงานเพื่อส่งนกแร้งทั้ง ๕ ตัวกลับบ้านกันจริง ๆ เสียที หลังจากต่อสู้กับสิ่งที่เอาชนะไม่ได้มา ๔ เดือน

ด้วยการประสานงานของคุณคณิต คณีกุล สถาปนิกหนุ่มใหญ่ใจกว้างหรือที่รู้จักกันในนามปากกา “ สาวน้อยร้อยชั่ง แห่งบลูแพลเน็ต ” ได้ติดต่อลูกทัพฟ้า นาวาอากาศโทหญิง อรัญญาณี ซิมงาม ประชาสัมพันธ์แห่งกองทัพอากาศไทย ซึ่งได้รับความกรุณาโดย พลอากาศตรีศรีเชาวน์ จันทร์เรือง เจ้ากรมกิจการพลเรือนทหารอากาศ เพื่อขอการสนับสนุนเครื่องบินลำเลียงพล C-130 นำนกแร้งทั้ง ๕ ตัว , คณะทำงาน ฯ , ช่างภาพและสื่อมวลชน รวมถึงผู้สนับสนุนต่าง ๆ ร่วมเดินทางพร้อมกัน ที่น่าปลื้มใจ ได้แก่ บริษัท การบินไทย จำกัด ( มหาชน ) มีน้ำใจออกบัตรโดยสารเพื่อนำคุณนิมบาย่า บัตบาย่า ( Nyambayar Batbayar ) นักปักษีวิทยาชาวมองโกเลีย ผู้ที่เชี่ยวชาญด้านชีววิทยาและการสืบพันธุ์ของนกแร้งดำหิมาลัย มาที่ประเทศไทยเพื่อติดวิทยุติดตามตัวนก ด้วยสัญญาณดาวเทียม (Satellite Transmitter) แก่เจ้าอนาคิน ส่วนอัศวินเจได ( เหล่านกแร้งสีน้ำตาลหิมาลัยทั้ง ๔ ตัว ) เจ้าหน้าที่จากส่วนวิจัยสัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยการนำทีมของ คุณตวงรัตน์ โพธิ์เที่ยง นักวิทยาศาสตร์ ๘ ว. ได้มาใส่ห่างขา , วัดส่วนสัดร่างกาย ( ซึ่งละเอียดกว่าประกวดนางงาม ) และแถบติดปีก ( Wing Tag ) เป็นที่เรียบร้อยไปก่อนหน้านี้แล้ว

๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๐ เป็นวันเดินทางของนกแร้งทั้งห้า ผมมาถึงสนามบินกองทัพอากาศ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่เจ็ดโมงเช้า มีอาการเมาขี้ตาอยู่เล็กน้อย พร้อมด้วยรถบรรทุก ๖ ล้อของเขตห้ามล่าสัตว์ป่า บึงบอระเพ็ด ที่กรุณานำรถมาจากจังหวัดนครสวรรค์ เพื่อมารับนกแร้ง , อาจารย์ ดร.พรชัย สัญฐิติเสรีและตัวผม โดยส่วนผมก็รู้สึกเป็นเกียรติและขอขอบพระคุณอย่างยิ่ง ที่กองทัพอากาศไทยได้ให้ความกรุณาในครั้งนี้ เพราะวัแรกที่นกแร้งสีน้ำตาลหิมาลัยทั้ง ๔ ตัว ซึ่งเดินทางมาจากจังหวัดพัทลุงและสุราษฎ์ธานี เข้ามาที่กรงฝึกบิน พบว่าความเครียดจากการเดินทางเป็นเวลานานและอาการเมารถ ทำให้นกแร้งไม่กินอาหาร , เกิดภาวะเครียดจนป่วย เช่น นั่งหมอบตลอดเวลา , อาเจียร , สำรอกอาหาร , เดินวนหรือมีอาการลำตัวกระตุกบ้างในบางครั้ง ซึ่งน่าจะไม่เกิดขึ้นในการเดินทางครั้งนี้ เพราะเราใช้เวลาเดินทางด้วยรถยนต์จากสนามบิน ไปถึงจุดปล่อยนกแร้งเพียงสามชั่วโมงเท่านั้น

ในคืนนั้น ผมอาสากางเต๊นท์นอนอยู่บนดอยลาง เพื่อเฝ้าดูอาการนกแร้งทั้งห้า โดยเลือกฐานปฏิบัติการฟ้าห่มปกเป็นที่พัก ซึ่งอุ่นใจเพราะได้รับการดูแลจากเหล่าคุณทหารพราน กองกำลังผาเมือง กองทัพบก ประจำการดูแลกองกำลังต่าง ๆ ตามแนวตะเข็บชายแดนไทย- พม่า อย่างเข้มแข็งและแข็งขัน ผมต้องการให้นกแร้งปรับตัวกับสถานที่ , สภาพภูมิอากาศบนภูเขาสูง , ดื่มน้ำ , กินอาหารและรอมวลอากาศร้อนในวันรุ่งขึ้นเพื่อบินร่อนกลับบ้าน แถมเราจับเจ้าอนาคินติดแถบติดปีก ( Wing Tag ) และติดวิทยุติดตามตัวนก ด้วยสัญญาณดาวเทียม (Satellite Transmitter) อีกด้วย โดยคุณนิมบาย่า บัตบาย่า ( ซึ่งมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ ) , อาจารย์ไชยยันต์และเจ้าหน้าที่กรมอุทยาน ฯ พร้อมเปิดเครื่องให้ดาวเทียมในตำแหน่งที่ใกล้ที่สุดทราบพิกัด ด้วยคณะของพวกเราอาจโชคดีหรือโชคร้ายอย่างมากมิทราบได้ พอดีในช่วงสัปดห์นั้น พายุดีเพรสชั่นกำลังแรงพัดเข้าประเทศพม่าฝั่งตะวันตก ( อ่าวเบงกอล ) ท้องฟ้าจึงปิดไปด้วยเมฆฝนและหมอกหนาแน่น แถมลมแรงและยังมีฝนพรำลงมาถึงตกหนักป็นระยะ ๆ ตลอดคืนนั้นผมนอนไม่ค่อยหลับ เพราะเป็นห่วงนกแร้งทั้ง ๕ ว่าจะตื่นตกใจกับพายุฝนขนาดไหน แต่ก็โล่งใจเมื่อตอนเช้ามืดของวันรุ่งขึ้น ฝนหยุดตกและลมสงบลง

เมื่อผมตรวจดูอย่างละเอียดแล้ว ขวัญกำลังใจและสุขภาพนกแร้งยังดีอยู่ ( สงสัยรู้ตัวว่าจะได้กลับบ้าน ) ขบวนรถของคณะผู้ร่วมปล่อยนกแร้งและกองทัพสื่อมวลชน ก็ขึ้นมาถึงหน่วยฟ้าห่มปกประมาณ ๗ โมงเช้า เพื่อซักซ้อมความเข้าใจถึงขั้นตอนการปล่อยนกแร้ง ซึ่งต้องเงียบและห้ามมุงดูหรือถ่ายภาพกันอย่างใกล้ชิดเช่นเคย ด้วยเกรงว่านกจะเครียดจนอาเจียร หรือบินหนีตะเลิดไปคนละทิศทาง เพราะผมและอาจารย์ไชยยันต์ได้วางแผนกันมาแล้วว่า จะให้เจ้าอนาคินอาศัยอยู่ร่วมฝูงเดียวกันกับอัศวินเจไดทั้งสี่ เพื่อร่วมกันหาอาหารและพากันอพยพขึ้นเหนือไปเรื่อย ๆ จะช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตได้มากกว่าเดินทางคนเดียว ดังสุภาษิต คนเดียวหัวหาย...สองคนเพื่อนตาย...สามคน ( ขึ้นไป ) กลับบ้านได้...ว่างั้นไป...

ประมาณ ๙ โมงเช้า ของวันที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๐ คณะพวกเราทั้งหมดกว่า ๕๐ ชีวิต ก็มารวมตัวกันอยู่ที่จุดปล่อยนกแร้ง ซึ่งห่างจากฐานปฎิบัติการฟ้าห่มปกทางทิศใต้ประมาณ ๖ กิโลเมตร เป็นหน้าผาสูงชันประมาณ ๒,๒๐๐ เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง หันหน้าไปทางทิศตะวันตกหรือประเทศพม่า และพวกเราทั้งหมดได้พบกับฝูงนกเหยี่ยวผึ้ง ๕ ตัว กำลังอพยพกลับบ้านโดยใช้มวลอากาศร้อนในบริเวณนั้น ทุกคนหวังว่านกแร้งของพวกเราจะทำเช่นนี้บ้าง เพราะปกติแล้วประมาณ ๙ โมงถึง ๑๑ โมงเช้าของทุกวัน หุบเขาเบื้องล่างจะสร้างมวลอากาศร้อนหรือลมร้อนกำลังแรงพัดขึ้นมาเสมอ ซึ่งนกแร้งจะอาศัยกระแสลมนี้ พยุงตัวขึ้นฟ้าได้โดยง่าย แต่ในวันนั้นอากาศเย็นมาก , หมอกลงหนาและท้องฟ้าก็ปิดอีกด้วย จึงเป็นที่มาของเสียงภาวนาจากหลายท่านลอยขึ้นไปตามลม ถามถึงความช่วยเหลือจากท้องฟ้า ส่วนตัวผมนั้น ได้ขอให้ท่านพระพิรุณช่วย เพราะท่านเป็นเทพอันดับหนึ่งในใจของชาวเกษตรศาสตร์ทุกคนเสมอมา เกี่ยวข้องกับฤดูฝนและการเกษตรกรรมของประเทศไทยโดยตรง ผมได้แต่หวังว่าคำขอจะเป็นผลสำเร็จ....

ฉับพลันนั้น...ฟ้าแง้มเปิดเป็นช่วงสั้น ๆ เริ่มมีลมพัดขึ้นมาจากหุบเขา แร้งทั้งหมดถูกปล่อยออกจากกรง ต่างพากันกระโดดออกมากางปีกเพื่อตากขนให้แห้ง เตรียมพร้อมจะเหินฟ้า อีกทั้งแร้งจะต้องทราบทิศทาง , ความแรงลม , กระแสลม , ความชื้น , ความสูง ฯลฯ คล้ายกับนักบินที่เตรียมนำเครื่องบินขึ้น ซึ่งทุกอย่างเป็นไปตามสัญชาติญาณ ผมเห็นว่าแร้งทุกตัวดูตื่นเต้นไม่น้อยที่พบกับความอิสระและจบสิ้นกันที กับลูกกรงที่อยู่เหนือหัวมาตลอด ๔ เดือน หลังจากใช้เวลาประมาณ ๔๐ นาทีเพื่อตากขนให้แห้ง และมีแดดออกเป็นระยะ ๆ

เจ้านกแร้งสีน้ำตาลหิมาลัย ๓ ตัว ก็ทะยานออกสู่อ้อมอกของธรรมชาติเป็นชุดแรก และใช้เวลาบินวนไต่ระดับความสูงเพียงไม่นานนัก เหลือเพียงเจ้าอนาคินและอัศวินเจไดอีกตัวเท่านั้น ยืนสบตามองหน้ากันไปมา ไม่มีทีท่าว่าจะโผบินตามเพื่อน ๆ ออกไปแต่อย่างใด ระหว่างนั้น...ผมอาศัยช่วงที่ทุกคนลุ้นอยู่แต่กับเจ้าอนาคิน เดินไปไล่เจ้าเจไดให้ตกหน้าผาไป พบว่าโผบินไปได้เองสบาย ๆ แต่ไปเกาะต้นไม้ใหญ่ริมผาเพื่อทำใจ ส่วนอาจารย์ไชยยันต์ก็จับเจ้าอนาคินโยนหน้าผาไปติด ๆ นกก็สามารถบินไปได้เองเช่นกัน ในใจของผมทราบว่านกทุกตัวพร้อมจะบินอยู่แล้ว เพียงแต่ใจไม่กล้าพอเท่านั้นต้องอาศัยนกผู้นำ หรือแรงผลักดันทางธรรมชาติ เช่น ความหิวหรือหนีผู้ล่า เป็นต้น แต่ที่ผ่านมา...นกแร้งไม่เคยต้องหาอาหาร เพราะมีให้กินเหลือเฟือ อีกทั้งไม่มีผู้ล่ามารบกวนด้วย จึงต้องทวทวนสัญชาตญาณป่ากันเล็กน้อย

ถือเป็นภาพความประทับใจ...ผมเห็นหลายคนยกมือไหว้ แสดงความขอบคุณเทพยดาฟ้าดินที่มาโปรด , หลายคู่กอดกันยินดี , กระโดดดีใจ , ไหว้และจับมือแสดงความขอบคุณในความรุณาที่ผ่านมา , ชูมือขึ้นอย่างสะใจ , มีรอยยิ้มเกิดขึ้นทุกใบหน้าและอื่น ๆ อีกมาก ส่วนตัวผมได้แต่ยิ้มและกางแขนออกกว้าง กอดธรรมชาติที่รับเจ้านกแร้งทั้งห้าที่พวกเราดูแลมาอย่างดี กลับไปอยู่ในความดูแลของท่าน และหวังเล็ก ๆ ว่าจะได้กลับมาปล่อยนกแร้งที่นี่อีกในปีต่อ ๆ ไป
ดั่งเวลาย้อนหมุนกลับ สภาพอากาศปิดอีกครั้ง หมอกกลับมาปกคลุมหนากว่าเดิม , อุณหภูมิลดต่ำลงและมีฝนตกลงมาพรำ ๆ จนทุกคนต้องกางร่มหรือหาที่หลบฝน ด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้มกันอย่างสนุกสนาน หลายคนกล่าวว่าเหมือนเรื่องเหนือธรรมชาติ ทำไม ? ท้องฟ้าเปิดแค่ช่วงที่เราปล่อยนกแร้งเพียงชั่วโมงกว่า ๆ เท่านั้น แต่ผมเข้าใจเพราะท่านพระพิรุณไม่เคยทอดทิ้งลูกเกษตรศาสตร์เลยสักครั้ง คำขอของพวกเรามักประสบความสำเร็จเสมอ

ถ้านับตั้งแต่วันที่ ๓ มกราคม – ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๐ ก็เป็นเวลากว่า ๔ เดือน คำว่า “ เรา ” ดูใหญ่โตขึ้นเรื่อย ๆ จากเริ่มแรกเพียงอาจารย์ไชยยันต์และผม ร่วมกันทำงานเท่านั้น บัดนี้กลายเป็นกิจกรรมมหาชนไปแล้ว ซึ่งทุกคนและทุกองค์กร ไม่ต้องการให้นกในธรรมชาติต้องอยู่ในกรงไปชั่วชีวิต และได้สานใจกันร่วมทำกุศลประโยชน์ในครั้งนี้ ซึ่งมันไม่สามารถจะเกิดขึ้นได้เลย ถ้าขาดองค์ประกอบใด ๆ ไป ผมหวังว่าเจ้าอนาคินและอัศวินเจไดทั้งสี่ จะมีชีวิตอยู่ต่อไปจนตราบสิ้นอายุขัยตามธรรมชาติ และเราจะติดตามสัญญาณดาวเทียมของเจ้าไปตลอดสามปี...

สุดท้ายนี้ คำขอบคุณล้านครั้งจากผม คงเทียบไม่ได้กับน้ำใจที่คนไทยทุกท่าน มอบให้กับนกแร้งทั้ง ๕ .....สวัสดีครับ
Read more!

มหากาพย์...นกแร้งดำหิมาลัย ตอนที่ 2

กาพย์ที่สอง บุกมองโกเลีย

ผู้สนับสนุน “ โครงการฟื้นฟูแร้งดำหิมาลัยเพื่อปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ “ ก็มีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นโอชองฟาร์ม ที่สนับสนุนกรงฝึกบินขนาดใหญ่ ขนาดกว้าง ๕ เมตร สูง ๖ เมตรและยาว ๒๔ เมตร ก่อสร้างที่คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม และบริษัท การบินไทย จำกัด ( มหาชน ) ก็ให้การสนับสนุนบัตรโดยสาร ๕ ที่นั่ง เส้นทางกรงเทพ – กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน สำหรับคณะผู้เดินทางไปส่งนกแร้งดำหิมาลัย ณ ประเทศมองโกเลีย และระหว่างที่รอกำหนดวันเดินทางและออกบัตรโดยสารอย่างเป็นทางการ อาจารย์ไชยยันต์ก็เตรียมเอกสารราชการต่าง ๆ ที่เกื่ยวข้องกับการนำนกมีชีวิตออกนอกประเทศ แถมเป็นนกที่อยู่ในบัญชีแนบท้ายที่สอง ของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าสัตว์ป่าและพืชหายากระหว่างประเทศ หรือที่เราคุ้นเคยกับคำว่า “ CITES Appendix 2 “

ขั้นตอนต่าง ๆ ก็เป็นไปตามนี้ เริ่มจากแจ้งไปที่ประเทศมองโกเลียหรือประเทศปลายทางว่าเรามีนกมีชีวิตจะส่งออก และเขาต้องการให้ตรวจโรคใดบ้าง เราก็ตรวจทุกโรคตามที่กำหนดไว้ โดยส่งตัวอย่างเลือด , อุจจาระและเมือกในปากของนก ไปที่สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ กรมปศุสัตว์และรอประมาณ ๘ วัน ( แจ้งว่าจะรับใบรายงานผลการตรวจเป็นภาษาอังกฤษ รวมถึงเขียนชื่อภาษาอังกฤษ , ชื่อวิทยาศาสตร์และเบอร์ห่วงขาของนก กำกับไว้ด้วย ) แล้วส่งกลับไปที่ประเทศปลายทางและประเทศที่เป็นทางผ่านแวะพักเครื่องบิน (Transit ) อีกครั้ง บอกเขาว่าปลอดโรค จากนั้นรอเอกสารตอบรับอย่างเป็นทางการ จากกรมปศุสัตว์และกรมป่าไม้ของทุกประเทศปลายทาง ว่าอนุญาตให้นำนกเข้าหรือผ่านประเทศได้

เราจึงจะไปแจ้งที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ( ซึ่งในส่วนนี้ได้รับความช่วยเหลือและความกรุณาอย่างดีมาก ๆ จากท่านอธิบดี นายเฉลิมศักดิ์ วานิชสมบัติ และคุณตวงรัตน์ โพธิ์เที่ยง นักวิทยาศาสตร์ ๘ ว. ส่วนวิจัยสัตว์ป่า ) เพื่อจัดทำใบขออนุญาตนำสัตว์ในพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ปี พ.ศ.๒๕๓๕ ออกนอกราชอาณาจักร และขอใบนำส่งออก จากสำนักงาน CITES ประจำประเทศไทย เพื่อแจ้งไปทางประเทศปลายทางว่า เรามีสัตว์ในบัญชี CITES จะนำเข้าหรือผ่านประเทศ แล้วรอจดหมายตอบกลับอย่างเป็นทางการอีกครั้ง

สุดท้ายนำเอกสารทั้งหมดที่ได้มา ( มั่นใจว่าจะเป็นปึกใหญ่ทีเดียว ) ส่งอีกครั้งที่กรมปศุสัตว์ ถนนพญาไท ณ ประเทศไทย เพื่อทำเอกสารส่งนกมีชีวิตออกนอกประเทศไทย ท่านเชื่อหรือไม่...จากขั้นตอนเพียงสามย่อหน้าแค่นี้ ทางคณะทำงาน ฯ ต้องรอ , ขอร้อง , ไหว้วอน , ต่อรองและบนบาน รวมแล้วใช้เวลาไปประมาณหนึ่งเดือน ยุ่งยากสมเป็นนกหายากจริง ๆ ส่วนการออกนอกประเทศของตัวบุคคลง่ายมาก เพียงไปยื่นขอทำวีซ่าที่สถานทูตมองโกเลียประจำประเทศไทยเท่านั้น แต่ถ้าเป็นหนังสือเดินทางราชการ ก็ทำเรื่องแจ้งต้นสังกัดว่าจะเดินทางและจะไปได้โดยสะดวก ทั้งประเทศจีนและมองโกเลีย

ระหว่างนั้น...เจ้าอนาคินก็ถูกเลี้ยงดูเป็นอย่างดีอยู่ในกรงฝึกบินขนาดใหญ่ ที่คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดของ รศ.นสพ.ดร.วรวิทย์ วัชชวัลคุ รองคณบดีและอาจารย์ประจำภาควิชาพยาธิวิทยา และน.สพ.ดร.พรชัย สัญฐิติเสรี อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกสัตว์ใหญ่และสัตว์ป่า คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประจำวิทยาเขตกำแพงแสน ซึ่งได้ให้เนื้อหมูสามชั้นหรือขาหมูเป็นอาหารแก่เจ้าอนาคิน ครั้งละครึ่งกิโลกรัม สัปดาห์ละสองถึงสามครั้ง ตามความต้องการสารอาหารตามธรรมชาติ ทั้งนี้เพื่อให้นกแร้งได้ฝึกการฉีกกัดอาหารด้วยตนเองและบินอย่างอิสระในกรงใหญ่ กล้ามเนื้อที่ใช้ในการบินจะได้มีความแข็งแรงและพร้อมใช้งานให้มากที่สุด

ด้วยเหตุเพราะไม่มีเที่ยวบินตรง ระหว่างประเทศไทยและประเทศมองโกเลีย อาจารย์ไชยยันต์จึงต้องเลือกเปลี่ยนเครื่องบิน (Transit ) ที่ประเทศจีนหรือเกาหลีใต้ ผมทราบมาว่า...ทางการจีนมีนโยบายแข็งกร้าวไม่อนุญาตให้นำนกมีชีวิตผ่านประเทศ ในทุกเหตุผลและไม่รับการเจรจาต่อรองใด ๆ ทั้งสิ้น ด้วยกลัวจะเป็นการนำโรคไข้หวัดนกเข้าสู่ประเทศเพิ่มขึ้น ( แม้ว่านกแร้งดำหิมาลัยจะตรวจแล้วว่าปลอดโรคไข้หวัดนกถึง ๓ ครั้ง ) ส่วนประเทศเกาหลีใต้ ทางคณะทำงาน ฯ ก็ได้ประสานไปทางสถานทูตเกาหลีใต้ในประเทศไทย ได้รับคำตอบที่ฟังแล้วชื่นใจว่า “ได้...ไม่น่ามีปัญหาใด ๆ “ สรุปว่าคณะผู้เดินทางไปส่งนกแร้งดำหิมาลัย จะเดินทางด้วยเส้นทางที่บริษัท การบินไทย จำกัด ( มหาชน ) ให้การสนับสนุน และซื้อตั๋วโดยสารเพิ่มเติมจากกรุงปักกิ่ง ประเทศจีนไปอูลันบาตอร์ เมืองหลวงของประเทศมองโกเลีย ด้วยเงินกองทุนพื้นฟูนกเพื่อปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ส่วนตัวนกแร้งและอาจารย์ไชยยันต์จะเดินทางจากกรุงเทพไปประเทศเกาหลีใต้ ( อ้อมเล็กน้อย ) จากนั้นจึงต่อเครื่องบินของสายการบินประจำชาติมองโกเลีย เข้าไปที่จุดหมายเดียวกัน แต่จะถึงช้ากว่าคณะแรกหนึ่งวัน
๒๑ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๐ คณะผู้เดินทางไปส่งนกแร้งดำหิมาลัยนำโดย คุณกวิน ชุติมา นายกสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย , คุณตวงรัตน์ โพธิ์เที่ยง นักวิทยาศาสตร์ ๘ ว. ส่วนวิจัยสัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม , คุณเรวดี เลิศอริยกฤต สมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และตัวผมเอง ได้เหินฟ้าไปกรุงปักกิ่งประเทศจีน เพื่อไปรอต่อเครื่องบินของสายการบินแห่งชาติมองโกเลีย เข้าสู่เมืองอูลันบาตอร์ ซึ่งตอนซื้อตั๋วเครื่องบินก็มีเรื่องน่าขัน เนื่องจากสายการบินแห่งชาติมองโกเลีย ไม่มีสาขาที่ขายตั๋วในประเทศไทย เราจึงต้องประสานไปยังสถานทูตไทยในกรุงปักกิ่ง เพื่อให้ออกเงินซื้อไปก่อนและเมื่อเราไปถึงปักกิ่งจึงนำเงินไปให้และส่งมอบตั๋วกัน ซึ่งถ้าหากันไม่เจอที่สนามบินนานาชาติปักกิ่งอันกว้างขวาง คงฮาไม่น้อย เพราะบินไปมองโกเลียก็ไม่ได้เพราะไม่มีบัตรโดยสาร เข้าประเทศจีนก็ไม่ได้เพราะไม่มีวีซ่า แต่เราก็โชคดีที่หากันเจอโดยง่าย พระคุ้มครองจริง ๆ

ระหว่างรอขึ้นเครื่องไปเมืองอูลันบาตอร์ โทรศัพท์มือถือของคุณเรวดี ก็ดังขึ้นอย่างมีพิรุธ เป็นข่าวที่ผมไม่อยากรับรู้ ว่าทางประเทศเกาหลีใต้ไม่อนุญาตให้นำนกแร้งดำหิมาลัยผ่านประเทศเพื่อต่อเครื่องไปประเทศมองโกเลีย ( ก่อนเวลาเดินทางของอาจารย์ไชยยันต์และเจ้าอนาคินเพียง ๖ ชั่วโมง ) ด้วยเพราะกลัวสถานการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดนกในประเทศไทย ถ้าอาจารย์ไชยยันต์ฝืนนำนกแร้งมา จะฆ่านกทิ้งที่สนามบินนานาชาติเกาหลีใต้ เมื่อได้ฟังดังนี้...คณะเดินทาง ฯ และผม ถึงกับอึ้ง...และหันหน้าปรึกษาถึงทางเลือกอื่น ๆ เจ้าหน้าที่สายการบินก็ประกาศเชิญผู้โดยสารขึ้นเครื่องบินได้แล้ว สุดท้าย...ในเมื่อหลังพิงฝา พวกเราจึงเดิน ( คอตกและหัวใจห่อเหื่ยว ) ขึ้นเครื่องบินต่อไปยังเมืองอูลันบาตอร์อันหนาวเหน็บจับใจ

ตลอดสองชั่วโมงครึ่งบนเครื่องบินไปประเทศมองโกเลีย ไม่มีคำพูดใด ๆ ออกมาจากคณะเดินทาง ทุกคนยังคงนั่งนิ่งและครุ่นคิดเรื่องราวต่าง ๆ ว่ามีความคลาดเคลื่อนหรือเข้าใจผิดพลาดตรงส่วนใด อีกทั้งกังวลว่าสภาพจิตใจของอาจารย์ไชยยันต์จะเป็นอย่างไรบ้าง คาดว่าคงผิดหวังและว้าวุ่นไม่น้อยกว่าพวกเรา ส่วนตัวผมนั้นคล้ายกับหกล้มหัวฟาดพื้น งง...งง...และสับสน มันพูดไม่ออก เพราะเราพยายามกันอย่างหนัก เพื่อจะให้นกแร้งดำหิมาลัยได้กลับคืนสู่ธรรมชาติในถิ่นต้นกำเนิด แต่ก็มีอุปสรรคซึ่งเกิดจากจิตใจของมนุษย์ที่เราไม่คาดคิดเกิดขึ้น อย่างที่ว่าไว้ในหนังสือพยากรณ์ดวงชะตาว่า “ เราไม่สามารถหลีกหนีจากสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ เพราะทุกสิ่งได้ถูกกำหนดไว้แล้ว ”

ท้องฟ้ามืดสนิทในเวลาเกือบเที่ยงคืนกับอุณหภูมิติดลบ ๑๑ องศาเซลเซียส เป็นคำทักทายแรกในฤดูใบไม้ผลิ ของอูลันบาตอร์ เมืองหลวงประเทศมองโกเลีย ซึ่งปกติอุณหภูมิติดลบ ๔๐ องศาเซลเซียสในฤดูหนาว คณะของพวกเรา ได้รับการต้อนรับที่ดีมากจาก คุณนิมบาย่า บัตบาย่า ( Mr. Nyambayar Batbayar ) นักปักษีวิทยาชาวมองโกเลีย จากสถาบัน Wildlife Science and Conservation Center of Mongolia และคุณเรวดี แจ้งว่า “ เราเสียใจที่ไม่สามารถนำเจ้าอนาคินมาที่มองโกเลียได้ ณ ตอนนี้ “ คุณนิมบาย่าถึงกับอึ้งเช่นกัน และปลอบให้ใจเย็น เราจะค่อย ๆ ช่วยกันแก้ไข และส่วนตัวเขาเอง ก็ต้องนำข้อมูลทั้งหมดไปแจ้งให้ทางเจ้าหน้าที่รัฐบาลและสื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ ให้ทราบถึงความเปลี่ยนแปลงนี้ เพราะ “ โครงการฟื้นฟูแร้งดำหิมาลัยเพื่อปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ “ จากประเทศไทย ก็มีความโด่งดังจนผู้คนในมองโกเลียให้ความสนใจและติดตามไม่น้อย ถึงกับออกโทรทัศน์ไปแล้วสองครั้ง ขนาดเจ้าหน้าที่สนามบินยังถามว่า “ นกแร้งจะมาเมื่อใด ” ส่วนตัวผมเองได้แต่ฟังและก้มหน้าเดินต่อไป มันตอบไม่ออก.....

เราพักกันที่โรงแรมชานเมืองอูลันบาตอร์ หิมะสีขาวโพลนเต็มไปทุกหนแห่ง มีพายุหิมะมาเป็นระยะ ๆ ผมเกาะกระจกหน้าต่างห้องพัก ถอนหายใจเฮือกใหญ่จนเกิดฝ้าไอน้ำเกาะเป็นแผ่นกลม ในใจคิดว่า “ เราต้องวนกลับไปเริ่มต้นใหม่ทั้งหมดหรือ...ทำไมหนอ...การทำความดีสักครั้งจึงได้มีอุปสรรคมากแบบนี้ ” น้ำเสียงนุ่มและสุขุมของคุณกวิน ชุติมา ดังข้ามไหล่มาว่า “ ความสำเร็จไม่เคยได้มาโดยง่าย พรุ่งนี้เราจะคิดแก้ไขกันต่อไป พักผ่อนเถอะ นี่ก็เกือบจะตีสองแล้ว ” ถึงแม้เปลือกตาของผมจะปิดไป แต่จิตยังตื่นและคิดค้นหาทุกหนทาง เหมือนหนูตาบอด ที่วิ่งวนหาทางออกอยู่ในกล่องที่ปิดสนิท จวบจนความเหนื่อยล้าดึงผมไปสู่ความภวังค์...

เช้าวันต่อมาโทรศัพท์เคลื่อนที่ของคุณเรวดี ทำงานไม่ได้หยุดเหมือนอยู่ในประเทศไทย คาดว่าค่าโทรศัพท์คงมากพอ ๆ กับราคาตั๋วเครื่องบินไป - กลับมองโกลียได้อีกรอบสบาย ๆ ( นับถือน้ำใจจริง ๆ ) เพราะต้องติดต่อประสานงานกับสถานฑูตและส่วนราชการต่าง ๆ เพื่อนำอาจารย์ไชยยันต์รวมทั้งนกแร้งมาให้ได้ ซึ่งทางปลายสายตอบกลับมาว่าต้องรอสัก ๒ – ๓ วัน เพื่อให้ผู้ใหญ่ของทางเกาหลีใต้พิจารณาอนุมัติ ระหว่างนั้นคณะของเราก็ออกไปดูรอบ ๆ เมืองหลวงของประเทศมองโกเลีย ซึ่งทั้งประเทศมีประชากรประมาณ ๓ ล้านคน โดยกว่า ๒ ล้านคนอาศัยอยู่ในเมืองหลวง ที่เหลืออยู่ตามส่วนต่าง ๆ ของประเทศไทย เคยถูกปกครองจากสหภาพโซเวียต จนใช้ตัวอักษรของรัสเซีย , ภาษาสื่อสารก็คล้ายกัน , สภาพแนวคิด , การแต่งตัวของผู้คน , บ้านเรือนและร้านรวงในตัวเมืองคล้ายประเทศรัสเซียและทางทวีปยุโรปฝั่งตะวันออกอย่างมาก นับถือศาสนาพุทธนิกายมหายานคล้ายประเทศจีน ที่สำคัญ กีฬาซูโม่ ครองใจประชาชนเป็นอันดับหนึ่ง และแชมป์ซูโม่ในประเทศญี่ปุ่น ก็เป็นคนมองโกเลียอีกด้วย ชาวพื้นเมืองส่วนใหญ่เป็นชนเผ่าเร่ร่อน ซึ่งมีอาชีพเลี้ยงปศุสัตว์เป็นหลัก ทั้งประเทศมีแกะและแพะรวมกันกว่า ๓๖ ล้านตัว ซึ่งอพยพตามแหล่งทุ่งหญ้าและสภาพอากาศปีละ ๓ ครั้ง คือ ฤดูหนาว , ฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อน ฤดูหนาวจัดยาวนานถึงปีละ ๘ เดือน ช่วงเดือนพฤษภาคมถึงกันยายน เป็นฤดูร้อนและฤดูท่องเที่ยวด้วยเช่นกัน

วันต่อมา หิมะตกหนัก อุณหภูมิก็ดิ่งติดลบลงไปเรื่อย ๆ ตามพยากรณ์อากาศในหนังสือพิมพ์ บอกว่าอากาศร้อนสุดของวัน คือ ติดลบ ๕ องศาสเซลเซียส ( แค่อ่านก็ขนลุกซู่ ) แถมยังไม่มีข่าวดีใด ๆ จากเมืองไทย เราจึงตัดสินใจไปดูจุดที่จะพาเจ้าอนาคินไปปล่อย ซึ่งอยู่ไกลจากเมืองอูลันบาตอร์ไปทางทิศตะวันตก ประมาณ ๒๒๐ กิโลเมตร เราใช้บริการของรถตู้ขับเคลื่อนสี่ล้ออันสุดแสนทรหด ซึ่งผลิตตั้งแต่สมัยสหภาพโซเวียตยังรุ่งเรือง ออกเดินทางตามเส้นทางหลวงแผ่นดินมองโกเลีย ซึ่งเป็นถนนราดยางที่สภาพไม่ค่อยได้รับการดูแลมากนัก จนในบางครั้งต้องลงไปวิ่งรถอยู่ข้าง ๆ ถนนและมีความตรงที่สุดเท่าที่ผมเคยเห็นมา เพราะเราสามารถมองไปจนสุดสายตาได้โดยไม่เห็นถนนโค้งเลย ( เหมือนวิ่งตรงไปสุดขอบโลก ) สองข้างทางก็เป็นทุ่งหญ้าสเต๊ปป์ ซึ่งไม่มีต้นไม้ใหญ่ มีแต่ต้นหญ้าสีน้ำตาลสั้น ๆ ปนน้ำแข็ง สูงแค่ตาตุ่มเป็นลานกว้างสุดสายตา แม่น้ำหนองบึงก็ยังเป็นน้ำแข็ง ผมหลับไปสามตื่น ลืมตามานึกว่าอยู่ที่เดิม เพราะทิวทัศน์ข้างทางมีแต่ท้องฟ้าสีเข้ม , ผืนดินสีน้ำตาลและถนนตรง ๆ ที่มิได้เปลี่ยนไปเลยตลอดทาง ยังดีที่มีฝูงอูฐสองโหนกดินเล็มหญ้าอยู่ข้างทาง ให้พวกเราลงไปดูคั่นเวลาบ้าง....

กว่าแปดชั่วโมงกับการนั่งอยู่บนรถตู้ เราก็มาถึงเอเดนเซนต์ ( Erdenesant ) เป็นหุบเขาที่ห่างไกลผู้คนอย่างมาก ไม่ใช่พื้นที่ป่าสงวนแต่อย่างใด แต่มีนกล่าเหยื่ออย่างน้อย ๗ ชนิดทำรังวางไข่ในบริเวณนี้ ซึ่งคุณนิมบาย่า ใช้เป็นพื้นที่วิจัยและเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่องหลายปี เนื่องจากชื่อจริงของพื้นที่เรียกยากมากออกเสียงไม่ถูก เราตั้งชื่อเล่นว่า “ หุบเขานกล่าเหยื่อ หรือ Raptor Valley ” และมีเพียงชนเผ่าเร่ร่อน ๔ ครอบครัวเท่านั้น ที่ใช้ช่วงเวลาในฤดูใบไม้ผลิ อาศัยอยู่ในพื้นที่กว้างสุดลูกหูลูกตาเช่นนี้ ซึ่งคุณนิมบาย่า ก็ได้ใช้วิชามวลชนสัมพันธ์ ดึงตัวมาเป็นผู้ร่วมสังเกตุการณ์ , ช่วยเก็บข้อมูลเกี่ยวกับนกแร้งและนกล่าเหยื่อชนิดต่าง ๆ เช่น เหยี่ยว , อินทรีย์ หรือนกฮูกในพื้นที่ด้วย และเราก็ได้เข้าไปทำความรู้จักครอบครัวเล็ก ๆ ของพวกเขาด้วย ซึ่งเป็นมิตรมากและมีน้ำใจล้นเหลือ ทุกคนสวมเลื้อผ้าชุดประจำชาติมองโกเลียและอาศัยอยู่ในกระโจมกลางแจ้งที่ไม่มีหน้าต่าง เห็นมีแต่ปล่องไฟด้านบน กินอาหารเป็นเนื้อสัตว์ร้อยละ๙๕ อีกร้อยละ ๕ เป็นเส้นหมี่และผักผลไม้รวมกัน ใช้มูลแพะแกะตากแห้งเป็นเชื้อเพลิงในการทำครัว ซึ่งเป็นแหล่งสร้างความอบอุ่นเดียวของกระโจม มีชานมมองโกเลีย (Mongolian Tea ) ซึ่งความจริงเป็นนมแพะต้มใส่เกลือและเติมใบชาไปเล็กน้อย รสชาดเค็ม ๆ มัน ๆ ใช้ดื่มอุ่น ๆ แทนน้ำ และเบียร์ทำจากนมม้าเป็นเครื่องดื่มสำคัญ อาชีพหลักเป็นการเลี้ยงปศุสัตว์ เช่น วัว , ม้า , แพะและแกะ เพื่อนำขนและหนังไปขาย โดยได้กินเนื้อและนมตลอดปี อีกทั้งขนชั้นในของแพะซึ่งสร้างขึ้นช่วงฤดูหนาว ซึ่งเราเรียกว่า “ แคชเมียร์ “ เป็นเส้นใยขนสัตว์ที่เก็บความอบอุ่นได้เป็นอย่างดี จึงนิยมนำไปทอเป็นเสื้อผ้าสำหรับฤดูหนาว มีราคาแพงและเป็นที่ต้องการของตลาดโลกอย่างมาก ถือเป็นรายได้หลักของชาวบ้านแถบนี้ บางครอบครัวมีแพะกว่าสองพันตัว ต้องดูแลกัน ๒๔ ชั่วโมงตลอดปี และรัฐบาลจะให้โล่ห์ยกย่องความเป็นเกษตรกรที่ขยันแข็งขันอีกด้วย

ลักษณะการเลี้ยงสัตว์ช่วงฤดูใบไม้ผลิ ตลอดเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม ซึ่งยังคงอากาศหนาวเย็น , มีพายุหิมะ , ลมแรงและมีแสงแดดอ่อน ๆ บ้าง จะมีการปล่อยแพะแกะซึ่งอยู่ในช่วงฤดูผสมพันธุ์ ทั้งแม่ทั้งลูกหลายร้อยถึงหลายพันตัว ออกไปเล็มกินทุ่งหญ้าอันกว้างใหญ่ไพศาลตามธรรมชาติ ตกเย็นก็ใช้ม้าหรือมอเตอร์ไซด์ต้อนกลับเข้าคอกเพื่อหลบลมหนาว สัตว์ที่อ่อนแอหรือป่วยก็จะถูกทิ้งไว้เช่นนั้น ท่ามกลางทุ่งอันหนาวเหน็บและยาวนานยามค่ำคืน เช้าต่อมาเมื่อเสียชีวิต ก็จะกลายเป็นอาหารแช่แข็งคุณภาพดีของนกแร้งและนกล่าเหยื่อในบริเวณนั้น ในช่วงเดียวกันนั้นนกแร้งก็เริ่มทำรังวางไข่เช่นกัน โดยเราจะเห็นว่าความสำเร็จในการผสมพันธุ์ทำรังวางไข่ ของครอบครัวนกแร้งดำหิมาลัยและนกล่าเหยื่อในบริเวณนั้นก็ได้รับอิทธิพลมาจากการทำปศุสัตว์ของชนเผ่าพื้นเมืองนั่นเอง

พ่อ – แม่นกแร้งดำหิมาลัยจะวางไข่บนรังเดิมแค่ปีละครั้ง เพียง ๑ ฟองเท่านั้น และฟักออกจากไข่ในช่วงต้นฤดูร้อน ตอนปลายเดือนเมษายนถึงกลางเดือนพฤษภาคม และพ่อ - แม่นกก็ต้องใช้ความเพียรพยายามนำอาหารมาเลี้ยงลูก ( ยักษ์ ) อย่าหนักตลอดช่วงกว่า ๔ เดือน แต่ลูกนกก็โตเร็วมาก ต้องการอาหารมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งจะสัมพันธ์ไปในทิศทางเดียวกันกับจำนวนปศุสัตว์ในพื้นที่โดยรอบ โดยจากงานวิจัยของคุณนิมบาย่า พบว่าครอบครัวนกแร้งดำหิมาลัยซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่ทำปศุสัตว์จะมีอัตราการรอดของลูกนกจนบินออกจากรัง มากกว่านกที่ทำรังวางไข่ในพื้นที่อนุรักษ์ที่ไม่มีการทำปศุสัตว์อย่างมีนัยสำคัญ โดยลูกนกจะบินออกจากรังประมาณกลางเดือนสิงหาคมถึงต้นเดือนกันยายน ซึ่งถือว่าสิ้นสุดฤดูร้อนและหมดฤดูเลี้ยงลูกที่ทุ่มเทมาตลอด ๖ เดือน

และพอลมหนาวอันโหดร้ายจากขั้วโลกเหนือเข้ามาปกคลุม พ่อ-แม่นกก็จะพาลูกนกอพยพไปหากินในพื้นที่อื่น ซึ่งอาจจะเป็นเกาหลีใต้ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมาก จากลูกนกขวบปีแรก โดยบางปีพบได้หลายร้อยตัวและพบนกที่บินไปจากมองโกเลียด้วย ลูกนกแร้งส่วนน้อยมาก ๆ จะอพยพลงใต้ซึ่งอาจมาถึงประเทศไทยดั่งเจ้าอนาคิน ส่วนพ่อ-แม่นกก็จะไม่อพยพไปไกลจากพื้นที่ทำรังวางไข่มากนัก ด้วยเพราะมีความอดทนต่อฤดูหนาวได้ดีกว่า , มีประสบการณ์ในการหาอาหารดีกว่า , หวงพื้นที่ทำรังวางไข่และสุดท้ายฉลาดกว่า ทำไมต้องบินไกลไปให้เมื่อย เพราะอีก ๖ เดือนก็ต้องกลับมาทำรังวางไข่แล้ว ส่วนนกวัยเด็กยังขาดประสบการณ์เพราะต้องใช้เวลากว่าห้าปีเพื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ระหว่างนี้ก็ออกบินท่องเ ที่ยวไปเรื่อย ๆ ตามแต่บุญกรรมที่กำหนดมา....
Read more!

มหากาพย์...นกแร้งดำหิมาลัย ตอนที่ 1

กาพย์ที่หนึ่ง ที่ไป – ที่มา

ตอนเย็นของวันที่ ๓ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๐ ขณะที่ผมกำลังเพลินกับการอ่านพยากรณ์ดวงชะตาชีวิต ในหนังสือพิมพ์และนิตยสารต่าง ๆ เพื่อวางแผนการดำเนินชีวิตประจำปีตามความเชื่อ ( อย่างจริงจัง ) เป็นการส่วนตัว และหลายคนยังอารมณ์ค้างกับการฉลองเทศกาลปี ( หมู ) ใหม่ เสียงโทรศัพท์ก็ดังขึ้น ต้นสายมาจาก ผศ.นสพ.ดร.ไชยยันต์ เกษรดอกบัว อาจารย์ประจำภาควิชาพยาธิวิทยา คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และหัวหน้ากลุ่มศึกษาเหยี่ยวและนกอินทรีย์ รวมถึงนกล่าเหยี่อชนิดต่าง ๆ ในประเทศไทย ซึ่งผมไม่คาดคิดว่าหลังจากโทรศัพท์สายนี้ ตารางชีวิตของผมจะพลิกผันไปดั่งคำทำนาย
อาจารย์โทรมาบอกว่ามีนักดูนกชาวสวีเดน ชื่อ Peter Ericsson ได้รับแจ้งว่าตั้งแต่ช่วงปีใหม่มีนกแร้งดำหิมาลัย ๑ ตัว ( ผมหูผึ่งและตาโตเล็กน้อย ตามภาษานักดูนก ) บินหมดแรงมาตก อยู่ที่ตำบลทับไทร อำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี มีชาวบ้านจับได้และถูกขายต่อมาอีกที ซึ่งขณะนี้นางสาวลอล่า วีล ( Iola Veal ) สาวชาวสกอตแลนด์ ได้ดูแลอยู่เป็นการชั่วคราว ( กว่าจะรู้เรื่องต้องอ้างอิงกันหลายทอด ) และตอนนี้เขาถามมาว่า “ เรา “ จะช่วยดูแลได้หรือไม่ เพราะเขาไม่พร้อมด้านสถานที่และวิธีการดูแล ตอนนี้เลี้ยงอยู่ในห้องนั่งเล่น ( ในเบื้องต้น “เรา ” ในที่นี้หมายถึงผมและอาจารย์ไชยยันต์เท่านั้น ) ผมอึ้งไปสักครู่ จนอาจารย์ต้องถามซ้ำด้วยน้ำเสียงเข้มขึ้นว่า “ คุณจะเอาอย่างไร...หือ ? ” ด้วยอารามกลัวอาจารย์อารมณ์ขุ่นมากกว่าเดิม จึงตอบไปว่า “ ได้ครับ...อาจารย์ แต่ถ้าตรวจร่างกายแล้วสบายดี ต้องปล่อยคืนสู่ธรรมชาติเท่านั้นนะครับ ” แล้วเสียงตามสายตอบกลับมาว่า “ โอเคตกลงตามนั้น ดีมาก...( เสียงสดใสขึ้นเล็กน้อย ) เดี๋ยวผมนัดเขาให้นำนกแร้งดำหิมาลัยมาเลยนะ เมื่อใดจะบอกอีกที... “


เป็นที่ทราบกันดีในเหล่านักดูนกชาวไทยว่า นกแร้งดำหิมาลัย เป็นนกอพยพผ่านประเทศไทยในฤดูหนาวที่หาได้ยากยิ่ง เคยพบทางภาคอีสาน , ภาคตะวันออกและภาคใต้นาน ๆ ครั้ง เป็นนกที่มีการกระจายพันธุ์ในบางส่วนของทวีปยุโรป , ทวีปเอเชียตอนเหนือ , อินเดีย , จีน , พม่า , เกาหลีใต้ , ญี่ปุ่นและประเทศไทย จากนั้นผมก็คาดการณ์ว่าสถานที่เลี้ยงดูนกของอาจารย์ คงหนีไม่พ้น โรงพยาบาลสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีรศ.น.สพ.วรศักดิ์ ปัจฉิมะศิริ เป็นผู้อำนวยการ ฯ เป็นแน่แท้ ด้วยเพราะเป็นสถานที่ทำงานของเราทั้งสอง และมีศักยภาพระดับสากลในเรื่องการตรวจรักษาและวินิจฉัยโรคต่าง ๆ ในสัตว์เกือบทุกชนิด จนหลายท่านกล่าวว่าเป็นโรงพยาบาลสัตว์ของมหาวิทยาลัยที่ดีและใหญ่ที่สุดในทวีปเอเชีย
สองวันผ่านไป ( ๕ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๐ ) เสียงโทรศัพท์ทำเอาผมสะดุ้งอีกครั้ง เมื่ออาจารย์ไชยยันต์บอกว่า “ คุณฝรั่งจะนำนกแร้งมามอบให้วันนี้แล้วนะ เตรียมสถานที่ไว้ให้พร้อมด้วย เรียบร้อยหรือยัง ” ส่วนผมพียงตอบรับว่า “ ครับ ” เท่านั้น และแอบยิ้มเล็ก ๆ เพราะผมเตรียมเสร็จตั้งแต่วันแรกที่คุยกันแล้ว ถึงแม้จะฉุกละหุกเล็กน้อย แต่ก็ถูกต้องตามหลักวิชาการ...เป๊ะ...เป๊ะ พร้อมกับแจ้งเรียน รศ.น.สพ.ดร.ธานีรัตน์ สานติวัตร คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นที่เรียบร้อยแล้วด้วย และส่วนตัวผมเองก็กำลังร้อนวิชา เนื่องจากเมื่อ ๖ เดือนก่อน...ระหว่างเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม พ.ศ.๒๕๔๙ ผมได้เดินทางไปฝึกงานเรื่อง “ การดูแลรักษาและฟื้นฟูสุขภาพนกล่าเหยื่อเพื่อปล่อยกลับคืนธรรมชาติ ( Raptor Medicine and Rehabilitation program ) “ ที่โรงพยาบาลสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยแห่งมลรัฐวอชิงตัน ( Washington State University ) ประเทศสหรัฐอเมริกา


ซึ่งระหว่างอยู่ที่นั่น ก็มีนกล่าเหยื่อมารักษามากมาย ไม่ว่าจะเป็นเหยี่ยว , อินทรีย์ , นกแร้ง , นกฮูกหรือนกในธรรมชาติหลายชนิด ที่บาดเจ็บด้วยสาเหตุหลายอย่าง ช่น ลูกนกตกต้นไม้ , อีกาโดนรถชน , นกฮูกถูกสุนัขกัดหรือนกอินทรีย์สีทองหมดแรงขณะอพยพผ่าน บินชนต้นไม้ ( เช่น นกแร้งดำหิมาลัย ) แวะเวียนมาใช้บริการอย่างไม่ขาดสาย ทำงานกันหาวหวอด ๆ เอ้ย...ไม่ใช่ มือเป็นระวิงทีเดียว กลับมาประเทศไทยก็กำลังคันไม้คันมือ พอแร้งมาก็ “ โป๊ะเช๊ะ “ เข้าทางพอดี ผมจัดให้นกแร้งดำหิมาลัยอยู่ใน ห้องของเรือนพักสัตว์ป่วยชนิดติดเครื่องปรับอากาศ ขนาด ๒๕ ตารางเมตร ซึ่งเหมาะสมและแยกจากสัตว์ป่วยตัวอื่น ๆ ที่พักอยู่ในส่วนเดียวกัน


แรกพบสบตาเจ้านกแร้งดำหิมาลัย ผมทราบได้ทันทีว่าเป็นนกวัยอ่อนอายุประมาณหนึ่งถึงสองปี เพราะดูจากท่าที เมื่อนกพบมนุษย์กลับไม่ตื่นเต้นตกใจหรือทำท่าจะหนีแต่อย่างใด และเมื่อได้จับตรวจร่างกายโดยรวมแล้ว พบว่านกผอมมาก กล้ามเนื้อหน้าอกฝ่อลีบ กระดูกอกโปนอย่างเห็นได้ชัด ไม่มีแรงแม้กระทั่งยืน ต้องใช้ปีกทั้งสองข้างช่วงค้ำยันพยุงร่างกายให้ตั้งตรง แต่ส่วนใหญ่มักจะนอนหมอบ มีน้ำหนักเพียง ๖.๕ กิโลกรัม ซึ่งต่ำว่ามาตรฐานที่ ๘ – ๑๒ กิโลกรัม เมื่อดูจากความสดใสของดวงตา พบตาบุ๋มลึกและเปลือกตาแห้ง คาดว่ามีภาวะขาดน้ำร่วมด้วย เปิดปากดูก็เห็นว่าเยื่อเมือกสีชมพูในช่องปาก สีซีดกว่าปกติ มีเหากระจายโดยทั่วลำตัว ( และตัวผมด้วย...แถมคันอย่างแรง ) สภาพขนลำตัวและขนปีก ค่อนข้างโทรมมีขาดวิ่นและยุ่งเหยิงบ้าง จากนั้นผมก็เก็บตัวอย่างเลือด , เมือกในช่องปาก , อุจจาระและเหา ( ของนกแร้ง ) ที่เกาะอยู่ตามตัวและศีรษะของผม ไปตรวจหาความผิดปกติต่อไป และที่ลืมไม่ได้ คือ ตรวจหาเชื้อไวรัสไข้หวัดนกด้วย


ในวันต่อมา ผมก็พาเจ้านกแร้งไปเยื่ยมเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลสัตว์ ณ ห้องฉายรังสี ศุนย์รังสีวินิจฉัยทางสัตวแพทย์ หรือห้องเอกซ์เรย์ ( X-ray ) เพื่อตรวจหากระดูกที่หักหรือลูกกระสุนปืน ที่อาจเป็นของที่ระลึกจากนายพราน ระหว่างการอพยพลงใต้มาที่ประเทศไทย ซึ่งก็พบข่าวดีว่ากระดูกแข็งแรงปกติและไม่มีโลหะของฝากแต่อย่างใด แถมยังเห็นต่อมเพศผู้ (Testis ) บริเวณด้านหน้าของไตอีกด้วย จากนั้นก็ไปตามผลเลือด ซึ่งประมวลผลมาได้ว่า นกแร้งตัวนี้อยู่ในภาวะขาดน้ำและอาหารมาเป็นเวลามากกว่าหนึ่งสัปดาห์ กำลังจะเดินไปเปิดประตูยมโลกอยู่แล้ว ผลตรวจอุจจาระก็ไม่พบพยาธิในลำไส้ ชนิดของแบคทีเรียในลำไส้ก็ปกติ ส่วนเหาที่เก็บไปนั้น ก็เป็นชนิดที่กินแต่ขนและรังแค ซึ่งก่อให้เกิดความคันและรำคาญเท่านั้น ( แต่มีหลายชนิดที่กินเลือดและก่อโรคได้ ) ซึ่งไม่ต้องกำจัดออก เพราะเหาเหล่านี้จะช่วยให้ขนของนกแร้ง เก่าไปตามธรรมชาติ แถมยังกระตุ้นให้นกแร้งผลัดขนเพื่อสร้างเส้นขนใหม่อีกด้วย ( แหม...นอกจากคันและยังมีประโยชน์อีกนะ )


เมื่อรวมความได้ทั้งหมด ผมจึงมานั่งเพ้อฝัน เอ้ย...จินตนาการว่า นกแร้งตัวนี้ น่าจะเป็นลูกนกที่เกิดและเติบโตขึ้นมาในปี ๒๕๔๙ นี้เอง และเริ่มอพยพหนีฤดูหนาวอันแสนโหดร้ายทางตอนเหนือของทวีปเอเชีย ลงมาทางใต้ซึ่งอบอุ่นและมีอาหารให้กินมากกว่า โดยน่าจะเริ่มบินอพยพมาตั้งแต่เดือนกันยายนหรือตุลาคม ๒๕๔๙ และตามลมหนาวมาเรื่อย ๆ หลายพันกิโลเมตร หาอาหารกินได้บ้างไม่ได้บ้าง ลงใต้มาอย่างต่อเนื่อง แต่บินย้อนทางกลับไม่ได้ เพราะลมเหนือไม่อำนวย ด้วยความไร้เดียงสาจึงได้แต่มุ่งหน้าลงใต้มาเรื่อย ๆ จวบจนเข้ามาถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็หาอาหารลำบากขึ้น เพราะเราได้เลิกประเพณีการทิ้งซากสัตว์หรือมนุษย์ไว้กลางแจ้งหรือพื้นที่สาธารณะ เพื่อเป็นอาหารแก่นกแร้งหรือนกกา เช่นในอดีต อีกทั้งโรงฆ่าสัตว์ก็มีการพัฒนาให้มีขอบเขตมิดชิดมากขึ้น เจ้านกแร้งตัวนี้จึงต้องบินหาอาหารลงมาเรื่อย ๆ ซึ่งอาจมีการหลบกระสุนปืนบ้าง เมื่อหลายวันเข้าที่ไม่มีทั้งน้ำและอาหารตกถึงท้อง นกก็จะย่อยกล้ามเนื้อหน้าอกออกมาใช้เป็นพลังงานไปเรื่อย ๆ สุดท้ายก็หมดแรงบินและตกลงสู่พื้นดินในที่สุด คาดว่ารออยู่แถวจุดตกไม่กี่วัน ก็มีคนไปพบเข้าและนำไปมอบให้ คุณลอล่า วีล ( Iola Veal ) สาวชาวสกอตแลนด์ ช่วยดูแลต่อ ซึ่งได้รับการป้อนอาหารและน้ำบ้าง แต่ก็ยังไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการและไม่เพียงพอต่อความต้องการของนกแร้งดำหิมาลัย จึงมีการประสานงานมาดังข้างต้น ( ผมนี่ก็คิดเรื่องได้เป็นตุเป็นตะ น่าไปแต่งนิยายจริง ๆ )


ทีนี้อาจารย์ไชยยันต์ก็เริ่มมีความคิดว่า ควรมีการบูรณาการองค์กรที่เกี่ยวข้องและนักดูนกชาวไทย ( คำนี้ยอดนิยมสำหรับร่วมมือกันทำงาน ) เพื่อหาทุนค่าอาหารและค่าดูแลต่าง ๆ อีกทั้งให้ทุกคนมีส่วนร่วมกันดูแลนกแร้งมากขึ้น ซึ่งตอนนี้ คำว่า “ เรา ” จะดูกว้างมากขึ้น หมายความรวมถึง คณะสัตวแพทยศาสตร์และคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ , ส่วนวิจัยสัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม , สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ , สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล กระทรวงการคลัง , สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทยและสมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และนักดูนกชาวไทยหลายร้อยท่าน ซึ่งติดต่อกันทางห้องดูนก โต๊ะบลูพลาเน็ต ( Blue Planet ) ภายในเวบไซด์ชื่อดัง พันทิพย์ดอทคอม ( www.pantip.com ) จนทำให้เกิด “ โครงการฟื้นฟูแร้งดำหิมาลัยเพื่อปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ( Fly The Vulture Home Project ) “ และได้ตั้งชื่อนกแร้งดำหิมาลัยว่า “ อนาคิน สกายวอร์คเกอร์ (Anakin Skywalker ) ” ด้วยเพราะเป็นนกวัยเด็ก , ตัวสีดำ ( เหมือนดาร์ค เวเดอร์วัยเด็ก ) และบินร่อนอย่างสง่างาม ดุจก้าวย่างอยู่บนท้องฟ้า...ว่าไปนั่น


จากนั้นก็ได้รับความร่วมมือด้านการประชาสัมพันธ์อย่างดีมาก จากคุณปริญญา ผดุงถิ่น คอลัมน์นิสระดับพระกาฬ “ สะเทิ้นน้ำ สะเทิ้นบก ” อันโด่งดังดังในมติชนรายสัปดาห์ และกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ในเครือมติชน อีกทั้งยังรับหน้าที่ติดต่อประสานงานไปยัง บริษัท บุญรอด บริวเวอรี่ จำกัด เพื่อขอการสนับสนุนวิทยุติดตามตัวนก ด้วยสัญญาณดาวเทียม (Satellite Transmitter) พร้อมเช่าสัญญาณหนึ่งปี รวมเป็นจำนวนเงินกว่าสองแสนบาท ซึ่งทางน้ำดื่มและผลิตภัณท์ตราสิงห์ โดยคุณจุตตินันท์ ภิรมภักดี ก็ได้ให้ความกรุณาสนับสนุนภาระกิจนี้ ทำให้หลังจากปล่อยนกแร้งดำหิมาลัยไปแล้ว ทางอาจารย์ไชยยันต์สามารถติดตามการเดินทางอพยพของนกแร้งได้ตลอดหนึ่งปี ซึ่งจะได้รับพิกัดดาวเทียมทุก ๆ สามวัน และแบตเตอรี่ในวิทยุติดตามตัวนก ก็สามารถใช้ได้ต่อเนื่องถึงสามปีด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ เมื่อหมดสัญญาปีแรก เราก็สามารถยื่นขอเช่าสัญญาณดาวเทียมแบบปีต่อปี ราคาปีละ ๔ หมื่นบาท ไปได้อีก ๒ ปี ถือเป็นก้าวใหม่ของการใช้เทคโนโลยีชั้นสูงระดับสากล เพื่อการศึกษาสัตว์ป่าในประเทศไทยอีกด้วย


เมื่อมีการดำเนินงานใหญ่ก็ต้องมีค่าใช้จ่ายเป็นเงาตามตัว จึงมีการจัดตั้ง “ กองทุนพื้นฟูนกเพื่อปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ “ ธนาคารไทยพานิชย์ สาขาย่อยเทสโก้โลตัส ฟอร์จูนทาวน์ บัญชีออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 240-2-02731-7 เพื่อรับบริจาคเงิน อีกทั้งจัดทำเสื้อยืดภาพเจ้าอนาคินออกจำหน่ายและจัดอบรมเกี่ยวกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์แก่นักดูนกและช่างภาพ ฯลฯ ผมรู้สึกได้ถึงความเอ็นดูและรับรู้ถึง “ ใจและน้ำใจ ” ที่มีอย่างล้นเหลือของนักดูนกและคนไทยทุกท่าน ที่ได้มอบมาให้เจ้าอนาคิน เพราะเงินจากกองทุน ฯ นี้จะเป็นการต่อทอดความรักและเอาใจใส่ของทุกท่าน แก่นกจากธรรมชาติที่จะได้รับการฟื้นฟูรายต่อ ๆ ไปด้วย
ระหว่างที่อาจารย์ไชยยันต์กำลังวิ่งวุ่นกับการนำเสนอ “ โครงการฟื้นฟูแร้งดำหิมาลัยเพื่อปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ “ เพื่อขอรับการสนับสนุนจากองค์กรต่าง ๆ ผมก็ได้รับข่าวว่า มีนกแร้งสีน้ำตาลหิมาลัยหนึ่งตัว บินมาตกที่อำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรัง , อีกตัวที่ทะเลน้อย จังหวัดพัทลุงและอีกสองตัวที่อำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎ์ธานี ทั้งหมดเป็นนกวัยเด็กอายุไม่เกิน ๒ ปีเช่นกัน ซึ่งผมได้ติดต่อไปทางส่วนวิจัยสัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ขออาสาฟื้นฟูเพื่อปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติต่อไป เราเรียกว่า “ เหล่าอัศวินเจไดทั้งสี่ ” อีกทั้งมีความคืบหน้าด้านสถานที่ซึ่งจะไปปล่อยนกแร้งดำหิมาลัย ตอนแรกว่าจะเป็นประเทศเกาหลีใต้ เพราะผมมีเพื่อนอยู่ที่นั่นและทำเรื่องฟื้นฟูสุขภาพนกล่าเหยื่อเช่นกัน แถมเป็นประเทศที่มีนกแร้งดำหิมาลัยวัยอ่อนจำนวนมากอพยพไปพักอาศัยอยู่ในฤดูหนาว และบินกลับบ้านเกิดเมื่อถึงฤดูร้อน แต่ในที่สุดก็ไปพบผู้เชื่ยวชาญนกแร้งดำหิมาลัยในประเทศมองโกเลีย ซึ่งเป็นแหล่งพื้นที่ทำรังวางไข่ที่สำคัญของนกแร้งดำหิมาลัยของทวีปเอเชีย สุดท้ายเราก็ได้ขอสรุปว่า การนำนกแร้งไปปล่อยที่มองโกเลียน่าจะดีและเหมาะสมที่สุด โดยไม่ทราบว่าชะตาชีวิตของทุกคน ได้ถูกกำหนดไว้แล้ว... 
Read more!

Wednesday, December 12, 2007

ไก่ชน..ตอนที่สอง

By: ..หมอแก้ว

ไก่ชน..ตอนที่สอง

ตอนที่สอง .. ตรวจร่างกาย


ปัญหาแรกที่ผมพบเมื่อต้องรับรักษาไก่ชนตัวแรก ผมนึกไม่ออกว่าไก่ชนปกติควรเป็นอย่างไร และจะรู้ได้อย่างไรว่าอาการที่เราตรวจอยู่คืออาการผิดปกติหรือไม่ เพราะลักษณะอาการปกติของไก่ชนต่างจากไก่บริโภคหลายประการ ด้วยความเป็นไก่นักกีฬาจึงมีลักษณะผิวพรรณและข้อปลีกย่อยต่างออกไป บางอย่างก็ถูกตัดแต่งศัลยกรรมโดยเจ้าของ ลักษณะที่ดูเหมือนผิดแต่กลับเป็นดี หรือเป็นลักษณะพิเศษ ก่อนที่หมอจะลงมือทำการตรวจใดใด ควรใช้การสังเกตและซักประวัติไปพรางก่อน เพราะไก่ที่แสดงอาการป่วยให้เห็นเด่นชัดแล้วมักจะเครียดและตายได้ง่าย การสังเกตจะช่วยให้วินิจฉัยเบื้องต้นได้ เช่น พฤติกรรม การสั่นหัว การยืนต้องมั่นคง สมดุล ปกติไก่ชนต้องยืนขาตรง อกตั้งชัน ปีกไม่ตก หน้าแดง ตาสดใส กรอกไปมา ตื่นตัวตลอดเวลา อัตราการหายใจอยู่ระหว่าง 20-25 ครั้งต่อนาที ไม่อ้าปากหายใจ ไม่ซึม ง่วงนอน หรือตาปิด ไม่มีอาการตกใจง่ายหรืออ่อนแรง ส่วนบั้นท้ายไม่สกปรกจากสิ่งขับถ่ายของตน หน้าสะอาด ไม่มีเสมหะ น้ำมูก ขนเป็นเงาจัดเรียงตัวเป็นระเบียบ ลักษณะของสิ่งขับถ่ายที่พบ โดยปกติสิ่งขับถ่ายของไก่จะแบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ปัสสาวะใส ไม่มีเลือดปน ยูเรตสีขาวถึงขาวเหลือง และอุจจาระ ซึ่งมีสีไปตามอาหารที่กิน การที่ปัสสาวะและยูเรตมีสีอื่นอาจจะหมายถึงการเกิดโรคได้ อุจจาระควรจับตัวกันเป็นก้อน หากเหลวและเละ จะเป็นอาการท้องร่วง หรือไม่ควรมีองค์ประกอบอย่างใดอย่างหนึ่งมากเกินไป เช่น พบเฉพาะยูเรตสีขาวไม่พบอุจจาระเลยก็ไม่ดี การซักประวัติที่ดีจะช่วยให้ได้ข้อมูลที่สำคัญ โดยเฉพาะสิ่งที่เจ้าของกังวลจึงได้นำไก่มาพบ ประวัติการรักษาที่ผ่านมา เพราะไก่ชนส่วนใหญ่มักจะผ่านการรักษาจากผู้เลี้ยงมาก่อนจึงจะมาพบหมอ ประวัติการเลี้ยง การให้อาหาร การอาบน้ำ การซ้อมไก่ ประวัติการเกิดโรคในฟาร์ม วัคซีน และการถ่ายพยาธิ นอกจากนี้ต้องทราบสภาพกรงเลี้ยงสามารถป้องกันแมลงได้ดีหรือไม่ สิ่งแวดล้อม ความหนาแน่นของการเลี้ยง แล้วที่ลืมไม่ได้คือระยะการฟักตัวของโรค เพราะระยะเวลาตั้งแต่เริ่มแสดงอาการและอาการที่พบทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง จะช่วยแยกแยะโรคที่วินิจฉัยเบื้องต้นไว้ได้

หลังจากสังเกตแล้วก็ค่อยทำการตรวจร่างกาย การควบคุมไก่ชนเพื่อตรวจควรให้เจ้าของมีส่วนร่วม รวบขาและล็อคปีกตรงหัวไหล่เพียงเบา ไม่ควรกดบีบที่อกเพราะจะทำให้หายใจไม่ได้ ส่วนใหญ่เจ้าของจะใช้วิธีโอบเบาๆซึ่งเจ้าของจะทราบนิสัยไก่ตนดี ไก่มักจะดูอาการว่าดีเสมอ เพราะมักจะเก็บซ่อนอาการไว้ หมอไม่ควรไว้วางใจ การตรวจร่างกายต้องทำอย่างรวดเร็วเพื่อลดความเครียด ทำการชั่งน้ำหนักเป็นกรัม คลำกล้ามเนื้อที่อกเพื่อประเมินความสมบูรณ์ ไก่ชนที่มีสุขภาพดีกล้ามเนื้อหน้าอกจะเต็มช่องของกระดูกหน้าอก (sternum) พอดี มักจะไม่นูนเกินกว่า หากนูนมากกว่าจะถือว่าอ้วนและอ้วนมาก หากลีบแหลมจนเห็นกระดูกโผล่ถือว่าผอม

ส่วนหัวไก่ จะสังเกตหน้าจะต้องแดงกร่ำ ไม่ซีด หากซีดมักพบในโรคที่ทำให้เกิดโลหิตจาง เช่น โรคติดเชื้อลิวโคไซโตซูน หงอนต้องแดง ส่วนใหญ่ไก่ชนที่นิยมต้องหงอนหน้าบาง กลางหงอนสูง และโคนติดหัวแน่น หน้าไม่บวม และเปรอะเปื้อนด้วยน้ำมูก ไก่จะไม่มีน้ำใสๆให้เห็นที่จมูกเหมือนในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม มักจะต้องแห้งหรือชื้นเล็กน้อย หากมีน้ำมูกใส จะบอกว่าเป็นอาการของโรคทางเดินหายใจได้ บางรายจะแห้งและแข็ง ให้สังเกตขนบริเวณเหนือจมูก ขนมักจะพันและแข็งจากน้ำมูกได้ ตาควรใส ไม่จมจากการขาดน้ำ เปลือกตาขาวไม่มีเส้นเลือดใหม่ ม่านตามีสีสม่ำเสมอตามสายพันธุ์ โพรงจมูกและโพรงไซนัสใต้ตาสมมาตร มุมปากไม่มีบาดแผล หรือตุ่มที่อาจเกิดจากโรคอมพนำ เปิดปากจะต้องเป็นสีชมพูไม่ซีด ไม่พบบาดแผล ช่องเพดานปากบน (choana) ไม่อุดตันหรือมีน้ำมูก เสมหะ ไม่พบบาดแผล ปากยังมีแรงงับ ส่วนหูต้องสะอาด ไม่บวม หากพบความผิดปกติของส่วนหัวมักเกี่ยวข้องกับโรคระบบทางเดินหายใจเป็นหลัก การวินิจฉัยว่าเป็นโรคอะไร ใช้อาการจากส่วนอื่นร่วม

ส่วนคอและตัว เจ้าของไก่มักจะมาพบด้วยอาการไก่เสียงเปลี่ยน ไอ การตรวจช่องหลอดอาหารและหลอดลม จากไฟฉายจะช่วยดูรอยโรคได้ดี เช่น ดอกขาว เป็นต้น ไม่ควรพบรอยโรค หรือการอักเสบแดง กล่องเสียงไก่และช่องเปิดเข้าหลอดลมจะสังเกตจากไฟฉายได้เช่นกัน กระเพาะพักต้องมีอาหารอยู่เสมอ ไก่ที่ป่วยมักจะพบว่ามีอาหารเหลืออยู่น้อยหรือไม่มี สามารถระบุว่าเบื่ออาหาร ไก่สุขภาพดีอาหารมักจะเต็มแต่ไม่ตึง กระเพาะพักจะบีบตัว 1-3 ครั้งต่อนาที หากไม่บีบตัวอาจเกิดจากตึงเกินไปหรืออาหารอุดตันกระเพาะพักที่เรียกว่า crop stasis หรือ crop impaction ต้องทำการรักษาต่อไปโดยการสอดท่อล้างกระเพาะพัก หรือการให้น้ำดื่ม ถัดจากกระเพาะพักจะสามารถจับคลำการเต้นของหัวใจได้ ทำการฟัง อัตราการเต้นของหัวใจไก่อยู่ระหว่าง 110-140 ครั้งต่อนาที ตื่นเต้นจะมากกว่าปกติ 2-3 เท่าได้ กล้ามเนื้ออกควรเสมอกระดูกอกอย่างที่กล่าวมาข้างต้น ช่องท้องจะสามารถสังเกตอัตราการหายใจได้ ไม่ควรกาง บวม ท้องมาน ปกติจะแฟบและเว้าเข้า ปกติจะต้องคลำไม่พบตับ แต่คลำพบกระเพาะแท้ได้ ทวารรวมจะเป็นที่รวมจาก 3 ท่อ ได้แก่ ท่อของทางเดินปัสสาวะ ระบบสืบพันธุ์และทางเดินอาหาร ชั้นเยื่อเมือกต้องเป็นสีชมพู ชื้นและเรียบ ไม่โผล่ยื่น บวมแดง บั้นท้ายไม่ควรเปรอะเปื้อนด้วยสิ่งขับถ่าย ซึ่งมักพบได้ในโรคของระบบทางเดินอาหาร เช่น ซัลโมเนลโลซิส ที่จะเปื้อนด้วยสิ่งขับถ่ายสีขาว ผิวหนังควรเรียบ นุ่ม ไม่พบรอยช้ำ ไก่จะพบรอยช้ำเขียวหลังจากได้รับบาดเจ็บแล้ว 1-2 วัน มีความยืดหยุ่น หากขาดน้ำ ความยืดหยุ่นมักหายไป หนังมักจะพับและไม่คืนตัวง่าย

ส่วนปีก ขาและอุ้งเท้า ปีกควรเรียบเป็นเงา จัดเป็นระเบียบ ไม่พบรอยขีดตามขวาง ที่เรียกว่า stress bar ซึ่งเกิดจากความเครียด และสภาวะขาดโภชนาการ ซึ่งพบได้ในบางราย ไก่จะผลัดขนปีก 2-3 ครั้งต่อปี ข้อขาและข้อปีกไม่บวม ขาไม่บิดเข้าหรือบิดออก การจัดเรียงของเกล็ดหน้าแข้งจะแตกต่างกันในแต่ละตัว ไม่ถือว่าผิดปกติ อุ้งเท้าควรเรียบไม่บวมแดง นุ่มไม่แข็งกระด้าง นิ้วเท้าไม่คดงอหรือหัก ไม่เจ็บเวลาลงเท้า
Read more!

ตอนที่หนึ่ง .. ไก่ชนนั้น สำคัญไฉน








By: หมอแก้ว เจแปน


ตอนที่หนึ่ง .. ไก่ชนนั้น สำคัญไฉน


ในวัยเด็กของผม ผมมองเห็นว่าไก่เป็นของคู่บ้านจริงๆ แทบทุกบ้านจะเลี้ยงไก่บ้านไว้บริโภค และมีไก่ชนเลี้ยงไว้เพื่อชนในวันหยุด ภาพที่ชินตาตอนเช้า ก็จะเห็นเขาอาบน้ำไก่และซ้อมไก่ ไก่ตัวไหนเชิงดี รูปร่างสวย มีเกล็ดพิฆาตก็จะมีคนมาห้อมล้อม วิพากษ์วิจารณ์ เป็นการรวมกลุ่มนักเลงไก่ทีเดียว บางครั้งก็อาจจะมีการลองชนจริงเบาๆกับไก่เพื่อนบ้านพอเป็นพิธีเพื่อหยั่งเชิง ว่าไก่ตนพร้อมจะลงสนามใหญ่ได้ไหม เสียงไก่ขัน และควันจากเตาถ่านรวมทั้งไอน้ำต้มสมุนไพรจึงเป็นของคู่ชนบท จวบจนปัจจุบันสิ่งเหล่านั้นก็ไม่ได้จางหายไป แต่กลับดูเอาจริงเอาจังยิ่งขึ้น จากเลี้ยงตามบ้านไม่กี่ซุ้มไก่ ก็กลายเป็นโรงเรือนมาตรฐาน มีการเพาะเลี้ยง พัฒนาสายพันธุ์ รวมทั้งการนำเข้าสายพันธุ์จากต่างประเทศเพื่อนบ้าน อย่างพม่า หรือเวียตนาม ราคาไก่ที่เคยซื้อขายอย่างง่าย หรือแลกเปลี่ยนกัน ก็กลายเป็นเรือนหมื่นเรือนแสน แสดงให้เห็นว่าการชนไก่ยังได้รับความนิยมอย่างไม่ได้ลดลงเลย แต่วิธีการดูแลไก่ก็ยังเป็นวิธีเดิม และดูจะเหมาะกับไก่นักกีฬาแบบนี้ หมอไก่ชาวบ้านที่เก่งๆ มีฝีมือก็ยังคงมีมาก การสืบทอดวิชาการดูแลไก่ก็ทำอย่างสืบทอดกันมา หรือไม่ก็ครูพักลักจำกัน เพราะใครๆ ก็หวงวิชาเหล่านี้ทั้งนั้น สนามชนไก่จะพบเห็นหมอเหล่านี้ได้ การกรีดเลือดช้ำ เย็บแผล อาบน้ำไก่ด้วยขมิ้นสมุนไพร ประคบช้ำ การต่อและตัดแต่งขนปีกเพื่อให้การบินเตะได้สูงและมีกำลัง เตะทีต้องเตะหน้า เตะคอ หรือเลือกเตะอกคู่ต่อสู้ได้ง่ายยิ่งขึ้น การแต่งหงอนให้เล็กสั้นดูจะเหมาะในการชนหลายประการ ก็ดีกว่าเป็นเป้าเตะและปล่อยให้ช้ำแล้วก็มาแต่งกันทีหลัง การแต่งเดือย พันเดือยพันแข้ง การปั่นคอปั่นท่อน้ำตา เพื่อล้างขี้ตา เสมหะ หรือแม้กระทั่งไก่ที่เป็นโรคคอดอก ไอค็อกๆ ขันเสียงแหบหมดสง่าราศี ไม่สมเป็นไอ้โต้งใหญ่ ก็ต้องโดนปั่นคอเสียด้วยขนไก่นั่นแหละ ดูจะไม่เหมาะเท่าไรแต่ก็ทำให้ไอ้โต้งสบายคอไปได้พักใหญ่ หายใจคล่อง และในปัจจุบันก็มีการนำเครื่องมือแพทย์ รวมทั้งวิธีทางอายุรกรรมของแผนปัจจุบันมาใช้ผสมผสานในการรักษากันมากขึ้น จากที่เคยใช้สมุนไพร ก็เริ่มใช้ยาปฏิชีวนะมารักษาโรค ยาอะไรก็เป็นยาแก้อักเสบไปหมด พอไปเห็นเม็ดยาเข้า ก็ถึงบางอ้อ ยาแก้อักเสบที่ว่ามันก็คือ...นี่เอง หรือไม่ยาหนึ่งขนาน รักษาครอบจักรวาลได้เลยก็ยังมี เคยใช้กระเบื้องลนไฟประคบก็เปลี่ยนเป็นน้ำมันนวดสรรพคุณต่างๆ มีดเก่าๆลนไฟกรีดแผลก็เป็นมีดผ่าตัด ชุบแอลกอฮอล์ลนไฟ ไม่ว่าจะกรรไกร คีมจับก็อย่างที่หมอปัจจุบันใช้ทั้งนั้น ขืนทำไม่ดีอกไก่ช้ำแต่เดิมไม่นานก็กลายเป็นโรคปรวดน้ำ หนองเขอะ รักษากันอย่างยากลำบากในทีหลัง
การรักษาแบบแผนปัจจุบันโดยชาวบ้านก็มีการพัฒนาในทางที่ดีขึ้นตามลำดับ มีการศึกษาทำความเข้าใจกันมาก อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการเลี้ยงไก่ชนมีจำนวนมากขึ้น และเป็นธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนสูง เจ้าของจึงมีความตระหนักในการป้องกันและรักษาโรคไก่ชนอย่างเหมาะสมมากขึ้น เพื่อสร้างความมั่นใจกับฟาร์มของตัวเอง สัตวแพทย์แผนปัจจุบันจึงเป็นทางเลือกอีกทางที่มีความสำคัญมากขึ้นทุกวัน และสัตวแพทย์ที่สนใจด้านนี้ก็มีมากขึ้นเช่นกัน เพียงแต่ไม่รู้ว่าควรจะเริ่มต้นอย่างไร หาอ่านตำราเพิ่มเติมความรู้ได้ที่ไหน รวมทั้งการสื่อสารกับเจ้าของในศัพท์ไก่ชน เช่น โรคลงพื้น หน่อ คอดอก ปรวด อมพนำ ดูจะเป็นคำใหม่สำหรับเรา แต่ใช้ในวงการไก่ชนมานานแสนนาน จึงมีคำถามจากเพื่อนสัตวแพทย์มากมายว่าสิ่งเหล่านี้คืออะไร และควรจะจัดการแก้ไขอย่างไรดี ลองตามผมมาสิ ผมจะพาเราไปดูโลกของไก่ชนกัน.... (ติดตามตอนต่อไป)








Read more!

ข้อคำนึงการจับบังคับนก


ข้อคำนึงการจับบังคับนก


  • การจับนกขนาดเล็กมาก เสี่ยงต่อการช็อค ต้องเตรียม oxygen cage ที่เปิดให้ความเข้มข้นของออกซิเจนสูงเตรียมไว้เรียบร้อย หากปรับอุณหภูมิให้สูงได้ด้วย (ประมาณ 40 องศาเซลเซียส) ก็จะดีมาก อาจเอาถุงน้ำร้อนไปวางไว้ในกรงสักพักหนึ่ง ให้อากาศภายในอบอุ่นเสียก่อนจับ
  • อาจ modify ทำ oxygen cage จากตู้ปลาที่ไม่ใช้แล้ว กล่อง Tupperware หรือกล่องขนย้ายสุนัข โดยใช้พลาสติกใสปิดกันอากาศออก แล้วสามารถสังเกตอาการนกได้ เตรียมผ้าขนหนูมาปิดซ้ำเพื่อทำ visual barrier ไม่ให้นกเครียด
  • ใช้วัสดุที่ใช้แล้วทิ้ง หรือ ผ้าขนหนูหรือตาข่ายที่สะอาด ในการจับบังคับนกแต่ละครั้ง เพื่อป้องกันการติดโรคข้ามตัว โดยการกระทำของสัตวแพทย์ เช่นโรคปรสิตภายนอก โรค PBFD โรคPox
  • ไม่ควรใช้ถุงมือหนังที่มีความหนายกเว้นเมื่อจับบังคับนกล่าเหยื่อ เพราะจะทำให้กะน้ำหนักมือไม่ถูก
  • การจับบังคับ ให้ทำในที่ที่ปลอดภัย หากเกิดกรณีนกหลุดปิดกระจก, 
    ปิดพัดลมเพดานและพัดลมดูดอากาศ
    และปิดประตู ไม่ควรทำกลางแจ้ง เพราะ หลุดแล้วหลุดเลย
  • การจับนกในกรงด้วยสวิง อาจทำได้โดย 1) ใช้สวิงครอบนกที่เกาะ ไม่หนีไปไหน 2) ใช้สวิงตามนกที่บินลงพื้น หรือ ผนังกรง (follow through) ประมาณว่า นกถึงพื้น สวิงตามไปภายใน 0.5-1วินาที หลีกเลี่ยงการวาดสวิงแรงๆเร็ว ขอบสวิงอาจตีนกได้ หรือ การยกสวิงดักนกที่บินอยู่กลางอากาศ นกอาจบินชนขอบสวิงได้
  • ขอบสวิงอาจบุฟองน้ำก่อน ชั้น เพื่อเพิ่มความนิ่มนวล นกขนาดเล็กควรใช้สวิงผ้าทึบ ดีกว่าสวิงตาข่าย
  • การจับนกในกรงที่ต้องเข้าไปจับ ควรมี คน ทำหน้าที่ไล่ กับทำหน้าที่ครอบนก คนสวิง ยืนรอแถวๆที่นกชอบบินมาเกาะ
  • การจับนกหลายตัว ให้เตรียมกรงพักนกเข้าไปด้วย จะได้ไม่งง จับให้หมดทีเดียว พักให้สงบ แล้วค่อยตรวจ-ปล่อยทีละตัว
  • อย่าลืมล้างสวิงด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ ทำให้แห้งก่อนนำไปใช้กับตัวใหม่
  • เตรียมอุปกรณ์ตรวจ รักษา เก็บตัวอย่าง  เตรียมซักซ้อมแผนให้พร้อมก่อนจับบังคับนก .ใช้เวลา
    แตะต้องนก ให้น้อยที่สุด เท่าที่จะทำได้
  • จับให้แน่นเพื่อป้องกันการหลุดและการบาดเจ็บ แต่นกต้องสามารถที่จะขยับกระบังลมสำหรับการหายใจได้
  • รวบปีกและขามาให้ชิดตัวมากที่สุด ไม่ปล่อยให้ดิ้นเกะกะ เพราะขา หรือปีกอาจหักได้ง่ายๆ
  •           นกที่มีน้ำหนักมาก อย่าจับที่กระดูกต้นแขนเท่านั้น (แบบจับหิ้วปีกไก่) เพราะจะเกิดความเครียดที่หัวไหล่มาก ควรใช้มือประคองรับน้ำหนักจากทางด้านล่างของตัว
  • การจับบังคับจากกรงเล็ก ให้เอาคอน ถาดน้ำ-อาหารและของเล่นออกจากกรงให้หมดก่อน
  • ใช้ผ้าขนหนูเพื่อทำให้นกไปอยู่ที่ข้างใดข้างหนึ่งของกรง  เมื่อนกกัดกรง ให้จับนกด้านหลังของหัวด้วยมือที่หุ้มด้วยผ้าขนหนู อาจให้นกกัดผ้าขนหนูก่อน แล้วจับหัวจากข้างหลังของหัว
  • นก Psittacine และ Passerine ขนาดเล็กสามารถที่จะจับได้ง่ายๆถ้าแสงน้อยหรือปิดไฟ โดนอาจใช้ pen light ในการช่วยจับ
  •  

    เมื่อหัวถูกจับได้แล้ว สามารถเอานกจากกรงโดยเอาผ้าขนหนูหุ้มปีกและตีน
  • เมื่อจับนกได้แล้ว ให้จับบังคับด้วยการควบคุมปาก ปีก และตีน
  • การใช้ผ้าขนหนูทำให้ควบคุมปีกได้ง่ายขึ้น แต่อาจให้เกิดความร้อนและทำนกขนาดเล็กสามารถจับบังคับด้วยการจับหัวนกด้วยนิ้วโป้งและนิ้วชี้ และจับตัวด้วยฝ่ามือหรือนิ้วอื่นๆ
  • นกขนาดกลางสามารถจับบังคับด้วยจับขากรรไกรล่างด้วยนิ้วโป้งและนิ้วกลางและเอานิ้วชี้อยู่บนหัวนก มืออีกข้างจับปีกและขา และเพื่อป้องกันนกบิน ให้ห่อนกด้วยผ้าขนหนูหรือจับไว้ใกล้ๆกับตัวคนจับ
  • การจับนกปากขอที่ร้องดัง อาจสวมที่ปิดหูกันเสียง ที่อุดหู (ซื้อตามร้าน hardware ได้) หรือใช้นิ้วมือดันระหว่าง mandible ramus เข้าไปในช่องปากจากภายนอก ให้ลิ้นและ larynx สูงติดเพดานบน
  • นกขนาดใหญ่สามารถจับบังคับด้วยการจับหัวบริเวณใต้ปาก ลำตัวสามารถหุ้มด้วยผ้าขนหนู และ อุ้มไว้ในวงแขนของผู้จับ เพื่อควบคุมปีก
  • นก Toucans สามารถจับบังคับโดยการใช้ผ้าขนหนูหรือตาข่าย เหมือน Psittacine โดยลำตัว ปีก และเท้าต้องถูกจับบังคับ จับปากให้แน่นหรือใช้เทปพันไว้เพื่อป้องกันการกัด ใช้มือหนึ่งจับปาก อีกมือจับลำตัวและปีก ไม่ควรจับ Toucan ที่หัวและคออย่างเดียว
  • เมื่อจับบังคับนกล่าเหยื่อเล็บเป็นอาวุธที่จะทำให้บาดเจ็บได้ ใช้ผ้าขนหนูปิดตา และจับขาด้วยมือที่ใส่ถุงมือแล้ว จากนั้นจับบังคับหัวและปีก ผ้าคลุมหัวอาจช่วยได้ในนกที่กระวนกระวาย อาจทำ ball bandage ที่เท้าระหว่างการตรวจ แต่นกบางชนิด เช่น นกอินทรีย์และนกฮูกสามารถใช้ปากกัดได้
  • การจับบังคับนกน้ำ ทำได้โดยใช้ตาข่ายหรือทำให้นกอยู่ที่มุม การจับทำได้โดยจับที่โคนปีก และมืออีกข้างประคองลำตัว แล้วรวบตัวและปีกไว้ในวงแขน ใช้มือจับขาในท่าพับขาติดตัว
  • การจับนกเงือก ให้จับปากก่อนโดยการจับจากด้านบนลงมา ยกมือสูงกว่าปาก วาดมือลงมารวบปากไว้ อาจใช้วิธีล่อให้งับไม้พันผ้านุ่มๆก่อน
  • เมื่อควบคุมนกได้แล้ว ให้ประเมินสภาพเสี่ยงก่อนอื่นโดยดูที่ 1) สีของเยื่อชุ่ม หากซีด หรือ ม่วง จะจับได้ไม่นาน  2) ความชุ่มชื้นของเยื่อชุ่ม หากแห้ง นกอาจเสี่ยงต่อภาวะ dehydrate ได้ง่าย 3) ความสมบูรณ์ (อ้วน-ผอม) ของร่างกาย หากผอมหรืออ้วนมาก อาจเสี่ยงต่อภาวะ hypoglycemia 4) หากนกอ้าปากหายใจ คอพับ หรือ หลับตา แสดงว่านกเหนื่อยมาก ให้รีบปล่อยเข้าoxygen cage หรือกรงพัก
  • สูตรของ Aussie หาก จะจับนกมาทำอะไรนานๆ เขาจะให้สารน้ำที่มีพลังงานสูงทาง stomach tube แล้วพักรอให้ดูดซึม ในปริมาณไม่มาก แต่เข้มข้น (มี commercial preparation ) ประมาณ 15-30 นาที ก่อนจับ
  • นกสามารถช็อคตายภายในเวลา 1-2 นาที
  • ภาวะช็อคของนก เกิดจากสาเหตุต่อไปนี้ 1) hypoxic shock ถูกบีบแรง หายใจไม่ออก หรือ ตื่นเต้นมาก หายใจไม่ทัน ไล่จับนานเกินไป หรือมีภาวะanemia อยู่ก่อน 2) hypoglycemic shock เนื่องจาก ตื่นเต้นมาก ใช้น้ำตาลในเลือดหมดไปอย่างเร็ว ในรายนกผอม หรือ อ้วนมาก อาจเกิด hypothermia 3) hypovolumic shock ในรายที่ไม่ได้รับน้ำ-อาหารนานๆ มีภาวะdehydrate อยู่ก่อน ให้ rehydrate ก่อน 4) hyperthermia จากการจับในวันที่อากาศร้อน ห่อผ้าขนหนูหนา หายใจไม่ค่อยออก 5) neurogenic shock ตื่นกลัวมากๆ
  • การแก้ไขภาวะที่นกหายใจขัดจากการจับบังคับ ทำได้โดยเอานกไปไว้ใน oxygen cage ที่เตรียมไว้ก่อน นกขนาดเล็ก (<50 กรัม) ที่อ้วนและได้รับอาหารที่ไม่ดีและไม่เคยถูกจับบังคับมาก่อน อาจจะตายจากการจับบังคับได้ ต้องบอกเจ้าของก่อนที่จะจับบังคับนกว่ามีความเสี่ยง
  • นกบางชนิด ขนหลุดง่าย เช่น กลุ่มนกเขา ต้องบอกเจ้าของก่อน เดี๋ยวจะตกใจเกินไป
  • การทำให้นกปล่อยปากเมื่อโดนกัด ทำได้โดยบีบที่หน้า บีบที่โคนปาก ถ้านกยังไม่ปล่อยให้ปล่อยนกจากการจับ การใช้แรงจับเปิดปากอาจทำให้ปากนกได้รับบาดเจ็บได้
  • ตัวอย่างการจับนกกินปลีขนาด 15 กรัม อาจจะต้องจับ พัก จับ-พัก ในตู้ออกซิเจนถึงสามรอบกว่าจะตรวจร่างกาย และ เก็บตัวอย่างได้ พักครั้งละประมาณ นาที ดูจนกว่านกปิดปากหายใจ

 

       



 



By: อ.สพ.ญ.รศชงค์ บุญฤทธิชัยกิจ, อ.น.สพ.รัฐพันธ์ พัฒนรังสรรค์


Read more!