Saturday, February 2, 2008

มหากาพย์...นกแร้งดำหิมาลัย ตอนที่ 1

กาพย์ที่หนึ่ง ที่ไป – ที่มา

ตอนเย็นของวันที่ ๓ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๐ ขณะที่ผมกำลังเพลินกับการอ่านพยากรณ์ดวงชะตาชีวิต ในหนังสือพิมพ์และนิตยสารต่าง ๆ เพื่อวางแผนการดำเนินชีวิตประจำปีตามความเชื่อ ( อย่างจริงจัง ) เป็นการส่วนตัว และหลายคนยังอารมณ์ค้างกับการฉลองเทศกาลปี ( หมู ) ใหม่ เสียงโทรศัพท์ก็ดังขึ้น ต้นสายมาจาก ผศ.นสพ.ดร.ไชยยันต์ เกษรดอกบัว อาจารย์ประจำภาควิชาพยาธิวิทยา คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และหัวหน้ากลุ่มศึกษาเหยี่ยวและนกอินทรีย์ รวมถึงนกล่าเหยี่อชนิดต่าง ๆ ในประเทศไทย ซึ่งผมไม่คาดคิดว่าหลังจากโทรศัพท์สายนี้ ตารางชีวิตของผมจะพลิกผันไปดั่งคำทำนาย
อาจารย์โทรมาบอกว่ามีนักดูนกชาวสวีเดน ชื่อ Peter Ericsson ได้รับแจ้งว่าตั้งแต่ช่วงปีใหม่มีนกแร้งดำหิมาลัย ๑ ตัว ( ผมหูผึ่งและตาโตเล็กน้อย ตามภาษานักดูนก ) บินหมดแรงมาตก อยู่ที่ตำบลทับไทร อำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี มีชาวบ้านจับได้และถูกขายต่อมาอีกที ซึ่งขณะนี้นางสาวลอล่า วีล ( Iola Veal ) สาวชาวสกอตแลนด์ ได้ดูแลอยู่เป็นการชั่วคราว ( กว่าจะรู้เรื่องต้องอ้างอิงกันหลายทอด ) และตอนนี้เขาถามมาว่า “ เรา “ จะช่วยดูแลได้หรือไม่ เพราะเขาไม่พร้อมด้านสถานที่และวิธีการดูแล ตอนนี้เลี้ยงอยู่ในห้องนั่งเล่น ( ในเบื้องต้น “เรา ” ในที่นี้หมายถึงผมและอาจารย์ไชยยันต์เท่านั้น ) ผมอึ้งไปสักครู่ จนอาจารย์ต้องถามซ้ำด้วยน้ำเสียงเข้มขึ้นว่า “ คุณจะเอาอย่างไร...หือ ? ” ด้วยอารามกลัวอาจารย์อารมณ์ขุ่นมากกว่าเดิม จึงตอบไปว่า “ ได้ครับ...อาจารย์ แต่ถ้าตรวจร่างกายแล้วสบายดี ต้องปล่อยคืนสู่ธรรมชาติเท่านั้นนะครับ ” แล้วเสียงตามสายตอบกลับมาว่า “ โอเคตกลงตามนั้น ดีมาก...( เสียงสดใสขึ้นเล็กน้อย ) เดี๋ยวผมนัดเขาให้นำนกแร้งดำหิมาลัยมาเลยนะ เมื่อใดจะบอกอีกที... “


เป็นที่ทราบกันดีในเหล่านักดูนกชาวไทยว่า นกแร้งดำหิมาลัย เป็นนกอพยพผ่านประเทศไทยในฤดูหนาวที่หาได้ยากยิ่ง เคยพบทางภาคอีสาน , ภาคตะวันออกและภาคใต้นาน ๆ ครั้ง เป็นนกที่มีการกระจายพันธุ์ในบางส่วนของทวีปยุโรป , ทวีปเอเชียตอนเหนือ , อินเดีย , จีน , พม่า , เกาหลีใต้ , ญี่ปุ่นและประเทศไทย จากนั้นผมก็คาดการณ์ว่าสถานที่เลี้ยงดูนกของอาจารย์ คงหนีไม่พ้น โรงพยาบาลสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีรศ.น.สพ.วรศักดิ์ ปัจฉิมะศิริ เป็นผู้อำนวยการ ฯ เป็นแน่แท้ ด้วยเพราะเป็นสถานที่ทำงานของเราทั้งสอง และมีศักยภาพระดับสากลในเรื่องการตรวจรักษาและวินิจฉัยโรคต่าง ๆ ในสัตว์เกือบทุกชนิด จนหลายท่านกล่าวว่าเป็นโรงพยาบาลสัตว์ของมหาวิทยาลัยที่ดีและใหญ่ที่สุดในทวีปเอเชีย
สองวันผ่านไป ( ๕ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๐ ) เสียงโทรศัพท์ทำเอาผมสะดุ้งอีกครั้ง เมื่ออาจารย์ไชยยันต์บอกว่า “ คุณฝรั่งจะนำนกแร้งมามอบให้วันนี้แล้วนะ เตรียมสถานที่ไว้ให้พร้อมด้วย เรียบร้อยหรือยัง ” ส่วนผมพียงตอบรับว่า “ ครับ ” เท่านั้น และแอบยิ้มเล็ก ๆ เพราะผมเตรียมเสร็จตั้งแต่วันแรกที่คุยกันแล้ว ถึงแม้จะฉุกละหุกเล็กน้อย แต่ก็ถูกต้องตามหลักวิชาการ...เป๊ะ...เป๊ะ พร้อมกับแจ้งเรียน รศ.น.สพ.ดร.ธานีรัตน์ สานติวัตร คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นที่เรียบร้อยแล้วด้วย และส่วนตัวผมเองก็กำลังร้อนวิชา เนื่องจากเมื่อ ๖ เดือนก่อน...ระหว่างเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม พ.ศ.๒๕๔๙ ผมได้เดินทางไปฝึกงานเรื่อง “ การดูแลรักษาและฟื้นฟูสุขภาพนกล่าเหยื่อเพื่อปล่อยกลับคืนธรรมชาติ ( Raptor Medicine and Rehabilitation program ) “ ที่โรงพยาบาลสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยแห่งมลรัฐวอชิงตัน ( Washington State University ) ประเทศสหรัฐอเมริกา


ซึ่งระหว่างอยู่ที่นั่น ก็มีนกล่าเหยื่อมารักษามากมาย ไม่ว่าจะเป็นเหยี่ยว , อินทรีย์ , นกแร้ง , นกฮูกหรือนกในธรรมชาติหลายชนิด ที่บาดเจ็บด้วยสาเหตุหลายอย่าง ช่น ลูกนกตกต้นไม้ , อีกาโดนรถชน , นกฮูกถูกสุนัขกัดหรือนกอินทรีย์สีทองหมดแรงขณะอพยพผ่าน บินชนต้นไม้ ( เช่น นกแร้งดำหิมาลัย ) แวะเวียนมาใช้บริการอย่างไม่ขาดสาย ทำงานกันหาวหวอด ๆ เอ้ย...ไม่ใช่ มือเป็นระวิงทีเดียว กลับมาประเทศไทยก็กำลังคันไม้คันมือ พอแร้งมาก็ “ โป๊ะเช๊ะ “ เข้าทางพอดี ผมจัดให้นกแร้งดำหิมาลัยอยู่ใน ห้องของเรือนพักสัตว์ป่วยชนิดติดเครื่องปรับอากาศ ขนาด ๒๕ ตารางเมตร ซึ่งเหมาะสมและแยกจากสัตว์ป่วยตัวอื่น ๆ ที่พักอยู่ในส่วนเดียวกัน


แรกพบสบตาเจ้านกแร้งดำหิมาลัย ผมทราบได้ทันทีว่าเป็นนกวัยอ่อนอายุประมาณหนึ่งถึงสองปี เพราะดูจากท่าที เมื่อนกพบมนุษย์กลับไม่ตื่นเต้นตกใจหรือทำท่าจะหนีแต่อย่างใด และเมื่อได้จับตรวจร่างกายโดยรวมแล้ว พบว่านกผอมมาก กล้ามเนื้อหน้าอกฝ่อลีบ กระดูกอกโปนอย่างเห็นได้ชัด ไม่มีแรงแม้กระทั่งยืน ต้องใช้ปีกทั้งสองข้างช่วงค้ำยันพยุงร่างกายให้ตั้งตรง แต่ส่วนใหญ่มักจะนอนหมอบ มีน้ำหนักเพียง ๖.๕ กิโลกรัม ซึ่งต่ำว่ามาตรฐานที่ ๘ – ๑๒ กิโลกรัม เมื่อดูจากความสดใสของดวงตา พบตาบุ๋มลึกและเปลือกตาแห้ง คาดว่ามีภาวะขาดน้ำร่วมด้วย เปิดปากดูก็เห็นว่าเยื่อเมือกสีชมพูในช่องปาก สีซีดกว่าปกติ มีเหากระจายโดยทั่วลำตัว ( และตัวผมด้วย...แถมคันอย่างแรง ) สภาพขนลำตัวและขนปีก ค่อนข้างโทรมมีขาดวิ่นและยุ่งเหยิงบ้าง จากนั้นผมก็เก็บตัวอย่างเลือด , เมือกในช่องปาก , อุจจาระและเหา ( ของนกแร้ง ) ที่เกาะอยู่ตามตัวและศีรษะของผม ไปตรวจหาความผิดปกติต่อไป และที่ลืมไม่ได้ คือ ตรวจหาเชื้อไวรัสไข้หวัดนกด้วย


ในวันต่อมา ผมก็พาเจ้านกแร้งไปเยื่ยมเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลสัตว์ ณ ห้องฉายรังสี ศุนย์รังสีวินิจฉัยทางสัตวแพทย์ หรือห้องเอกซ์เรย์ ( X-ray ) เพื่อตรวจหากระดูกที่หักหรือลูกกระสุนปืน ที่อาจเป็นของที่ระลึกจากนายพราน ระหว่างการอพยพลงใต้มาที่ประเทศไทย ซึ่งก็พบข่าวดีว่ากระดูกแข็งแรงปกติและไม่มีโลหะของฝากแต่อย่างใด แถมยังเห็นต่อมเพศผู้ (Testis ) บริเวณด้านหน้าของไตอีกด้วย จากนั้นก็ไปตามผลเลือด ซึ่งประมวลผลมาได้ว่า นกแร้งตัวนี้อยู่ในภาวะขาดน้ำและอาหารมาเป็นเวลามากกว่าหนึ่งสัปดาห์ กำลังจะเดินไปเปิดประตูยมโลกอยู่แล้ว ผลตรวจอุจจาระก็ไม่พบพยาธิในลำไส้ ชนิดของแบคทีเรียในลำไส้ก็ปกติ ส่วนเหาที่เก็บไปนั้น ก็เป็นชนิดที่กินแต่ขนและรังแค ซึ่งก่อให้เกิดความคันและรำคาญเท่านั้น ( แต่มีหลายชนิดที่กินเลือดและก่อโรคได้ ) ซึ่งไม่ต้องกำจัดออก เพราะเหาเหล่านี้จะช่วยให้ขนของนกแร้ง เก่าไปตามธรรมชาติ แถมยังกระตุ้นให้นกแร้งผลัดขนเพื่อสร้างเส้นขนใหม่อีกด้วย ( แหม...นอกจากคันและยังมีประโยชน์อีกนะ )


เมื่อรวมความได้ทั้งหมด ผมจึงมานั่งเพ้อฝัน เอ้ย...จินตนาการว่า นกแร้งตัวนี้ น่าจะเป็นลูกนกที่เกิดและเติบโตขึ้นมาในปี ๒๕๔๙ นี้เอง และเริ่มอพยพหนีฤดูหนาวอันแสนโหดร้ายทางตอนเหนือของทวีปเอเชีย ลงมาทางใต้ซึ่งอบอุ่นและมีอาหารให้กินมากกว่า โดยน่าจะเริ่มบินอพยพมาตั้งแต่เดือนกันยายนหรือตุลาคม ๒๕๔๙ และตามลมหนาวมาเรื่อย ๆ หลายพันกิโลเมตร หาอาหารกินได้บ้างไม่ได้บ้าง ลงใต้มาอย่างต่อเนื่อง แต่บินย้อนทางกลับไม่ได้ เพราะลมเหนือไม่อำนวย ด้วยความไร้เดียงสาจึงได้แต่มุ่งหน้าลงใต้มาเรื่อย ๆ จวบจนเข้ามาถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็หาอาหารลำบากขึ้น เพราะเราได้เลิกประเพณีการทิ้งซากสัตว์หรือมนุษย์ไว้กลางแจ้งหรือพื้นที่สาธารณะ เพื่อเป็นอาหารแก่นกแร้งหรือนกกา เช่นในอดีต อีกทั้งโรงฆ่าสัตว์ก็มีการพัฒนาให้มีขอบเขตมิดชิดมากขึ้น เจ้านกแร้งตัวนี้จึงต้องบินหาอาหารลงมาเรื่อย ๆ ซึ่งอาจมีการหลบกระสุนปืนบ้าง เมื่อหลายวันเข้าที่ไม่มีทั้งน้ำและอาหารตกถึงท้อง นกก็จะย่อยกล้ามเนื้อหน้าอกออกมาใช้เป็นพลังงานไปเรื่อย ๆ สุดท้ายก็หมดแรงบินและตกลงสู่พื้นดินในที่สุด คาดว่ารออยู่แถวจุดตกไม่กี่วัน ก็มีคนไปพบเข้าและนำไปมอบให้ คุณลอล่า วีล ( Iola Veal ) สาวชาวสกอตแลนด์ ช่วยดูแลต่อ ซึ่งได้รับการป้อนอาหารและน้ำบ้าง แต่ก็ยังไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการและไม่เพียงพอต่อความต้องการของนกแร้งดำหิมาลัย จึงมีการประสานงานมาดังข้างต้น ( ผมนี่ก็คิดเรื่องได้เป็นตุเป็นตะ น่าไปแต่งนิยายจริง ๆ )


ทีนี้อาจารย์ไชยยันต์ก็เริ่มมีความคิดว่า ควรมีการบูรณาการองค์กรที่เกี่ยวข้องและนักดูนกชาวไทย ( คำนี้ยอดนิยมสำหรับร่วมมือกันทำงาน ) เพื่อหาทุนค่าอาหารและค่าดูแลต่าง ๆ อีกทั้งให้ทุกคนมีส่วนร่วมกันดูแลนกแร้งมากขึ้น ซึ่งตอนนี้ คำว่า “ เรา ” จะดูกว้างมากขึ้น หมายความรวมถึง คณะสัตวแพทยศาสตร์และคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ , ส่วนวิจัยสัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม , สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ , สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล กระทรวงการคลัง , สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทยและสมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และนักดูนกชาวไทยหลายร้อยท่าน ซึ่งติดต่อกันทางห้องดูนก โต๊ะบลูพลาเน็ต ( Blue Planet ) ภายในเวบไซด์ชื่อดัง พันทิพย์ดอทคอม ( www.pantip.com ) จนทำให้เกิด “ โครงการฟื้นฟูแร้งดำหิมาลัยเพื่อปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ( Fly The Vulture Home Project ) “ และได้ตั้งชื่อนกแร้งดำหิมาลัยว่า “ อนาคิน สกายวอร์คเกอร์ (Anakin Skywalker ) ” ด้วยเพราะเป็นนกวัยเด็ก , ตัวสีดำ ( เหมือนดาร์ค เวเดอร์วัยเด็ก ) และบินร่อนอย่างสง่างาม ดุจก้าวย่างอยู่บนท้องฟ้า...ว่าไปนั่น


จากนั้นก็ได้รับความร่วมมือด้านการประชาสัมพันธ์อย่างดีมาก จากคุณปริญญา ผดุงถิ่น คอลัมน์นิสระดับพระกาฬ “ สะเทิ้นน้ำ สะเทิ้นบก ” อันโด่งดังดังในมติชนรายสัปดาห์ และกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ในเครือมติชน อีกทั้งยังรับหน้าที่ติดต่อประสานงานไปยัง บริษัท บุญรอด บริวเวอรี่ จำกัด เพื่อขอการสนับสนุนวิทยุติดตามตัวนก ด้วยสัญญาณดาวเทียม (Satellite Transmitter) พร้อมเช่าสัญญาณหนึ่งปี รวมเป็นจำนวนเงินกว่าสองแสนบาท ซึ่งทางน้ำดื่มและผลิตภัณท์ตราสิงห์ โดยคุณจุตตินันท์ ภิรมภักดี ก็ได้ให้ความกรุณาสนับสนุนภาระกิจนี้ ทำให้หลังจากปล่อยนกแร้งดำหิมาลัยไปแล้ว ทางอาจารย์ไชยยันต์สามารถติดตามการเดินทางอพยพของนกแร้งได้ตลอดหนึ่งปี ซึ่งจะได้รับพิกัดดาวเทียมทุก ๆ สามวัน และแบตเตอรี่ในวิทยุติดตามตัวนก ก็สามารถใช้ได้ต่อเนื่องถึงสามปีด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ เมื่อหมดสัญญาปีแรก เราก็สามารถยื่นขอเช่าสัญญาณดาวเทียมแบบปีต่อปี ราคาปีละ ๔ หมื่นบาท ไปได้อีก ๒ ปี ถือเป็นก้าวใหม่ของการใช้เทคโนโลยีชั้นสูงระดับสากล เพื่อการศึกษาสัตว์ป่าในประเทศไทยอีกด้วย


เมื่อมีการดำเนินงานใหญ่ก็ต้องมีค่าใช้จ่ายเป็นเงาตามตัว จึงมีการจัดตั้ง “ กองทุนพื้นฟูนกเพื่อปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ “ ธนาคารไทยพานิชย์ สาขาย่อยเทสโก้โลตัส ฟอร์จูนทาวน์ บัญชีออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 240-2-02731-7 เพื่อรับบริจาคเงิน อีกทั้งจัดทำเสื้อยืดภาพเจ้าอนาคินออกจำหน่ายและจัดอบรมเกี่ยวกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์แก่นักดูนกและช่างภาพ ฯลฯ ผมรู้สึกได้ถึงความเอ็นดูและรับรู้ถึง “ ใจและน้ำใจ ” ที่มีอย่างล้นเหลือของนักดูนกและคนไทยทุกท่าน ที่ได้มอบมาให้เจ้าอนาคิน เพราะเงินจากกองทุน ฯ นี้จะเป็นการต่อทอดความรักและเอาใจใส่ของทุกท่าน แก่นกจากธรรมชาติที่จะได้รับการฟื้นฟูรายต่อ ๆ ไปด้วย
ระหว่างที่อาจารย์ไชยยันต์กำลังวิ่งวุ่นกับการนำเสนอ “ โครงการฟื้นฟูแร้งดำหิมาลัยเพื่อปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ “ เพื่อขอรับการสนับสนุนจากองค์กรต่าง ๆ ผมก็ได้รับข่าวว่า มีนกแร้งสีน้ำตาลหิมาลัยหนึ่งตัว บินมาตกที่อำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรัง , อีกตัวที่ทะเลน้อย จังหวัดพัทลุงและอีกสองตัวที่อำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎ์ธานี ทั้งหมดเป็นนกวัยเด็กอายุไม่เกิน ๒ ปีเช่นกัน ซึ่งผมได้ติดต่อไปทางส่วนวิจัยสัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ขออาสาฟื้นฟูเพื่อปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติต่อไป เราเรียกว่า “ เหล่าอัศวินเจไดทั้งสี่ ” อีกทั้งมีความคืบหน้าด้านสถานที่ซึ่งจะไปปล่อยนกแร้งดำหิมาลัย ตอนแรกว่าจะเป็นประเทศเกาหลีใต้ เพราะผมมีเพื่อนอยู่ที่นั่นและทำเรื่องฟื้นฟูสุขภาพนกล่าเหยื่อเช่นกัน แถมเป็นประเทศที่มีนกแร้งดำหิมาลัยวัยอ่อนจำนวนมากอพยพไปพักอาศัยอยู่ในฤดูหนาว และบินกลับบ้านเกิดเมื่อถึงฤดูร้อน แต่ในที่สุดก็ไปพบผู้เชื่ยวชาญนกแร้งดำหิมาลัยในประเทศมองโกเลีย ซึ่งเป็นแหล่งพื้นที่ทำรังวางไข่ที่สำคัญของนกแร้งดำหิมาลัยของทวีปเอเชีย สุดท้ายเราก็ได้ขอสรุปว่า การนำนกแร้งไปปล่อยที่มองโกเลียน่าจะดีและเหมาะสมที่สุด โดยไม่ทราบว่าชะตาชีวิตของทุกคน ได้ถูกกำหนดไว้แล้ว...

4 comments:

Anonymous said...

แหม...หลานเกษตร เล่าได้อรรถรสดีจริงๆ ปู่ฟังแล้วเพลินตามไปเลย 55555 และขอชมเชยกลุ่มนักดูนกเมืองไทยที่เทียบชั้นระดับอินเตอร์ไปแล้ว เครือข่ายกว้างขวาง การรู้จักคบคนและใช้เว็ปไซด์ไปในทางที่ถูกที่ควรย่อมเกิดผลดีได้อย่างมหาศาลทีเดียว ปู่ขอตามไปฟังต่อ ณ มหากาพย์ตอนต่อไปเลยนะ

Anonymous said...

คุณหมอเกษตร เล่าให้คนอ่าน รู้สึกสนุก และอยากติดตามไปด้วย

เป็นกำลังใจให้คุณหมอในการทำความดีครั้งต่อไปนะคะ...สู้ๆ สู้ตายจ้า

Anonymous said...

ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆครับ

Anonymous said...

ชีวิตคุณหมอไม่ได้พลิกผันหรอก

เพียงแต่คุณหมอเกิดมาเพื่อช่วยเขาอยู่แล้ว
จริงๆก็อยากรู้ว่าอะไรที่ทำให้คุณหมอรักและทำเพื่อ
สัตว์ได้ขนาดนี้ โดยเฉพาะนก

"Bird watching is more than love"

คุณหมอเกิดมาเพื่อสิ่งนี้จริงๆ