Wednesday, December 12, 2007

ไก่ชน..ตอนที่สอง

By: ..หมอแก้ว

ไก่ชน..ตอนที่สอง

ตอนที่สอง .. ตรวจร่างกาย


ปัญหาแรกที่ผมพบเมื่อต้องรับรักษาไก่ชนตัวแรก ผมนึกไม่ออกว่าไก่ชนปกติควรเป็นอย่างไร และจะรู้ได้อย่างไรว่าอาการที่เราตรวจอยู่คืออาการผิดปกติหรือไม่ เพราะลักษณะอาการปกติของไก่ชนต่างจากไก่บริโภคหลายประการ ด้วยความเป็นไก่นักกีฬาจึงมีลักษณะผิวพรรณและข้อปลีกย่อยต่างออกไป บางอย่างก็ถูกตัดแต่งศัลยกรรมโดยเจ้าของ ลักษณะที่ดูเหมือนผิดแต่กลับเป็นดี หรือเป็นลักษณะพิเศษ ก่อนที่หมอจะลงมือทำการตรวจใดใด ควรใช้การสังเกตและซักประวัติไปพรางก่อน เพราะไก่ที่แสดงอาการป่วยให้เห็นเด่นชัดแล้วมักจะเครียดและตายได้ง่าย การสังเกตจะช่วยให้วินิจฉัยเบื้องต้นได้ เช่น พฤติกรรม การสั่นหัว การยืนต้องมั่นคง สมดุล ปกติไก่ชนต้องยืนขาตรง อกตั้งชัน ปีกไม่ตก หน้าแดง ตาสดใส กรอกไปมา ตื่นตัวตลอดเวลา อัตราการหายใจอยู่ระหว่าง 20-25 ครั้งต่อนาที ไม่อ้าปากหายใจ ไม่ซึม ง่วงนอน หรือตาปิด ไม่มีอาการตกใจง่ายหรืออ่อนแรง ส่วนบั้นท้ายไม่สกปรกจากสิ่งขับถ่ายของตน หน้าสะอาด ไม่มีเสมหะ น้ำมูก ขนเป็นเงาจัดเรียงตัวเป็นระเบียบ ลักษณะของสิ่งขับถ่ายที่พบ โดยปกติสิ่งขับถ่ายของไก่จะแบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ปัสสาวะใส ไม่มีเลือดปน ยูเรตสีขาวถึงขาวเหลือง และอุจจาระ ซึ่งมีสีไปตามอาหารที่กิน การที่ปัสสาวะและยูเรตมีสีอื่นอาจจะหมายถึงการเกิดโรคได้ อุจจาระควรจับตัวกันเป็นก้อน หากเหลวและเละ จะเป็นอาการท้องร่วง หรือไม่ควรมีองค์ประกอบอย่างใดอย่างหนึ่งมากเกินไป เช่น พบเฉพาะยูเรตสีขาวไม่พบอุจจาระเลยก็ไม่ดี การซักประวัติที่ดีจะช่วยให้ได้ข้อมูลที่สำคัญ โดยเฉพาะสิ่งที่เจ้าของกังวลจึงได้นำไก่มาพบ ประวัติการรักษาที่ผ่านมา เพราะไก่ชนส่วนใหญ่มักจะผ่านการรักษาจากผู้เลี้ยงมาก่อนจึงจะมาพบหมอ ประวัติการเลี้ยง การให้อาหาร การอาบน้ำ การซ้อมไก่ ประวัติการเกิดโรคในฟาร์ม วัคซีน และการถ่ายพยาธิ นอกจากนี้ต้องทราบสภาพกรงเลี้ยงสามารถป้องกันแมลงได้ดีหรือไม่ สิ่งแวดล้อม ความหนาแน่นของการเลี้ยง แล้วที่ลืมไม่ได้คือระยะการฟักตัวของโรค เพราะระยะเวลาตั้งแต่เริ่มแสดงอาการและอาการที่พบทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง จะช่วยแยกแยะโรคที่วินิจฉัยเบื้องต้นไว้ได้

หลังจากสังเกตแล้วก็ค่อยทำการตรวจร่างกาย การควบคุมไก่ชนเพื่อตรวจควรให้เจ้าของมีส่วนร่วม รวบขาและล็อคปีกตรงหัวไหล่เพียงเบา ไม่ควรกดบีบที่อกเพราะจะทำให้หายใจไม่ได้ ส่วนใหญ่เจ้าของจะใช้วิธีโอบเบาๆซึ่งเจ้าของจะทราบนิสัยไก่ตนดี ไก่มักจะดูอาการว่าดีเสมอ เพราะมักจะเก็บซ่อนอาการไว้ หมอไม่ควรไว้วางใจ การตรวจร่างกายต้องทำอย่างรวดเร็วเพื่อลดความเครียด ทำการชั่งน้ำหนักเป็นกรัม คลำกล้ามเนื้อที่อกเพื่อประเมินความสมบูรณ์ ไก่ชนที่มีสุขภาพดีกล้ามเนื้อหน้าอกจะเต็มช่องของกระดูกหน้าอก (sternum) พอดี มักจะไม่นูนเกินกว่า หากนูนมากกว่าจะถือว่าอ้วนและอ้วนมาก หากลีบแหลมจนเห็นกระดูกโผล่ถือว่าผอม

ส่วนหัวไก่ จะสังเกตหน้าจะต้องแดงกร่ำ ไม่ซีด หากซีดมักพบในโรคที่ทำให้เกิดโลหิตจาง เช่น โรคติดเชื้อลิวโคไซโตซูน หงอนต้องแดง ส่วนใหญ่ไก่ชนที่นิยมต้องหงอนหน้าบาง กลางหงอนสูง และโคนติดหัวแน่น หน้าไม่บวม และเปรอะเปื้อนด้วยน้ำมูก ไก่จะไม่มีน้ำใสๆให้เห็นที่จมูกเหมือนในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม มักจะต้องแห้งหรือชื้นเล็กน้อย หากมีน้ำมูกใส จะบอกว่าเป็นอาการของโรคทางเดินหายใจได้ บางรายจะแห้งและแข็ง ให้สังเกตขนบริเวณเหนือจมูก ขนมักจะพันและแข็งจากน้ำมูกได้ ตาควรใส ไม่จมจากการขาดน้ำ เปลือกตาขาวไม่มีเส้นเลือดใหม่ ม่านตามีสีสม่ำเสมอตามสายพันธุ์ โพรงจมูกและโพรงไซนัสใต้ตาสมมาตร มุมปากไม่มีบาดแผล หรือตุ่มที่อาจเกิดจากโรคอมพนำ เปิดปากจะต้องเป็นสีชมพูไม่ซีด ไม่พบบาดแผล ช่องเพดานปากบน (choana) ไม่อุดตันหรือมีน้ำมูก เสมหะ ไม่พบบาดแผล ปากยังมีแรงงับ ส่วนหูต้องสะอาด ไม่บวม หากพบความผิดปกติของส่วนหัวมักเกี่ยวข้องกับโรคระบบทางเดินหายใจเป็นหลัก การวินิจฉัยว่าเป็นโรคอะไร ใช้อาการจากส่วนอื่นร่วม

ส่วนคอและตัว เจ้าของไก่มักจะมาพบด้วยอาการไก่เสียงเปลี่ยน ไอ การตรวจช่องหลอดอาหารและหลอดลม จากไฟฉายจะช่วยดูรอยโรคได้ดี เช่น ดอกขาว เป็นต้น ไม่ควรพบรอยโรค หรือการอักเสบแดง กล่องเสียงไก่และช่องเปิดเข้าหลอดลมจะสังเกตจากไฟฉายได้เช่นกัน กระเพาะพักต้องมีอาหารอยู่เสมอ ไก่ที่ป่วยมักจะพบว่ามีอาหารเหลืออยู่น้อยหรือไม่มี สามารถระบุว่าเบื่ออาหาร ไก่สุขภาพดีอาหารมักจะเต็มแต่ไม่ตึง กระเพาะพักจะบีบตัว 1-3 ครั้งต่อนาที หากไม่บีบตัวอาจเกิดจากตึงเกินไปหรืออาหารอุดตันกระเพาะพักที่เรียกว่า crop stasis หรือ crop impaction ต้องทำการรักษาต่อไปโดยการสอดท่อล้างกระเพาะพัก หรือการให้น้ำดื่ม ถัดจากกระเพาะพักจะสามารถจับคลำการเต้นของหัวใจได้ ทำการฟัง อัตราการเต้นของหัวใจไก่อยู่ระหว่าง 110-140 ครั้งต่อนาที ตื่นเต้นจะมากกว่าปกติ 2-3 เท่าได้ กล้ามเนื้ออกควรเสมอกระดูกอกอย่างที่กล่าวมาข้างต้น ช่องท้องจะสามารถสังเกตอัตราการหายใจได้ ไม่ควรกาง บวม ท้องมาน ปกติจะแฟบและเว้าเข้า ปกติจะต้องคลำไม่พบตับ แต่คลำพบกระเพาะแท้ได้ ทวารรวมจะเป็นที่รวมจาก 3 ท่อ ได้แก่ ท่อของทางเดินปัสสาวะ ระบบสืบพันธุ์และทางเดินอาหาร ชั้นเยื่อเมือกต้องเป็นสีชมพู ชื้นและเรียบ ไม่โผล่ยื่น บวมแดง บั้นท้ายไม่ควรเปรอะเปื้อนด้วยสิ่งขับถ่าย ซึ่งมักพบได้ในโรคของระบบทางเดินอาหาร เช่น ซัลโมเนลโลซิส ที่จะเปื้อนด้วยสิ่งขับถ่ายสีขาว ผิวหนังควรเรียบ นุ่ม ไม่พบรอยช้ำ ไก่จะพบรอยช้ำเขียวหลังจากได้รับบาดเจ็บแล้ว 1-2 วัน มีความยืดหยุ่น หากขาดน้ำ ความยืดหยุ่นมักหายไป หนังมักจะพับและไม่คืนตัวง่าย

ส่วนปีก ขาและอุ้งเท้า ปีกควรเรียบเป็นเงา จัดเป็นระเบียบ ไม่พบรอยขีดตามขวาง ที่เรียกว่า stress bar ซึ่งเกิดจากความเครียด และสภาวะขาดโภชนาการ ซึ่งพบได้ในบางราย ไก่จะผลัดขนปีก 2-3 ครั้งต่อปี ข้อขาและข้อปีกไม่บวม ขาไม่บิดเข้าหรือบิดออก การจัดเรียงของเกล็ดหน้าแข้งจะแตกต่างกันในแต่ละตัว ไม่ถือว่าผิดปกติ อุ้งเท้าควรเรียบไม่บวมแดง นุ่มไม่แข็งกระด้าง นิ้วเท้าไม่คดงอหรือหัก ไม่เจ็บเวลาลงเท้า

2 comments:

รัฐพันธ์ said...

ทดสอบ ทดสอบ

Anonymous said...

Is this all about happyluke.com.au?
How do you get started? The site is not happyluke in the 카지노 main 10bet sports betting section of the site but for a free casino, casino and bingo you can bet your