Wednesday, December 12, 2007

การวางยาสลบในนก

การวางยาสลบในนก




         ปัจจุบันการวางยาสลบในนกนั้น ที่นิยมทำกันจะทำการวางยาสลบด้วยการดมยา ซึ่งในสัตว์อื่นจะมีความปลอดภัยที่ค่อนข้างสูง แต่ในนกนั้นความเสี่ยงในการวางยายังคงมีอยู่ อันเนื่องมาจากตัวนกเอง ทั้งโครงสร้างของร่างกายและความแตกต่างทางชนิดพันธุ์ และการตอบสนองต่อยาสลบ ดั้งนั้นเมื่อต้องการวางยาสลบนกทุกครั้ง ควรจะพิจารณาในหลาย ๆ ด้านว่ามีความเหมาะสมหรือจำเป็นมากน้อยแค่ไหน สามารถที่จะเลี่ยงไปใช้วิธีการอื่นได้หรือไม่ เพื่อลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นได้ เนื่องด้วยนกเป็นสัตว์ที่มีความตื่นกลัวได้ง่ายและสูง ตัวอย่างวิธีการที่อาจสามารถใช้ได้ เช่น 
1) การจับควบคุมบังคับ ( Restraint ) 
         ทั้งทางกายภาพ ( physical restraint ) และทางเคมี ( chemical restraint ) ซึ่งใช้ได้ดีในนกที่มีความคุ้นเคยกับคนและใช้ได้ในกรณีที่สิ่งที่จะกระทำนั้นไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดมากนัก เช่น การฉายภาพรังสี ( radiography ), laparoscopy, biopsy และ minor surgery เป็นต้น 
2) การระงับความเจ็บปวด 
         ในกรณีที่สิ่งที่จะกระทำนั้นก่อให้เกิดความเจ็บปวดแก่ตัวนกหรือมีการกระตุ้นความเจ็บปวดตลอดเวลา เช่น การทำ minor surgery บางอย่าง อาจทำการให้ยาระงับความเจ็บปวดหรือให้ยาชาเฉพาะที่ ( local anesthesia ) แต่ในบางครั้งอาจไม่จำเป็นเนื่องด้วยผิวหนังของนกมีประสาทรับความรู้สึกน้อย โดยเฉพาะการผ่าตัดที่ผิวหนัง 
3) การคลายกล้ามเนื้อ 
         ในกรณีที่ต้องการจัดท่าในการถ่ายภาพรังสี หรือในกรณีที่มีการดามหรือทำเกี่ยวกับกระดูก 
4) การลดความกังวลและตื่นกลัว 
         ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้สามารถที่จะลดการสูญเสียลงได้ ทั้งในกรณีไม่ต้องและต้องวางยาสลบในนก

ข้อพิจารณาก่อนการวางยาสลบในนก 
การจับ ( Handling ) 
          
การจับตัวนกนั้นควรกระทำอย่างนิ่มนวลและไม่ให้ความเครียดหรือเกิดน้อยที่สุด แม้ว่าการจับต้องตัวนกเพื่อทำการตรวจร่างกายก่อนที่จะทำการวางยาสลบนั้นมีความจำเป็น และควรกระทำอย่างรวดเร็วและนิ่มนวล ทั้งก่อนการวางยาสลบ ระหว่างที่สลบ และหลังจากที่พื้นสลบ ซึ่งต้องมีการเตรียมอุปกรณ์และยาให้พร้อมอยู่เสมอ ทั้งในกรณีปกติและในกรณีที่ฉุกเฉินการตรวจร่างกาย ( Clinical Examination ) 
          การตรวจร่างกายนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อที่จะประเมินสุขภาพของตัวนกก่อนที่จะทำการวางยาสลบและผ่าตัด ตลอดจนประเมินถึงความเสี่ยงและผลที่อาจตามมาภายหลังจากการวางยาสลบและผ่าตัด โดยเฉพาะการตรวจการทำงานของตับและไต เนื่องด้วยเกี่ยวข้องกับการสลายและการขับออกของยาสลบที่ใช้ รวมถึงการเลือกใช้ยาสลบและวิธีการที่เหมาะสมกับตัวนก

การตรวจร่างกายที่สำคัญเพื่อที่จะประเมินสุขภาพก่อนทำการวางสลบและการผ่าตัด ได้แก่

1. ตรวจค่าเอนไซด์ในซีรัม ดูสภาวะการทำงานของตับและไต ภาวะโรคตับและไต
2. การตรวจค่าเลือด โดยเฉพาะ PCV, total protein และ serum glucose 
        PCV มากกว่า 55 % บ่งบอกถึงสภาวะขาดน้ำ ( dehydration ) จำเป็นที่ต้องให้สารน้ำ 
        PCV น้อยกว่า 20 % บ่งบอกถึงสภาวะเลือดจาง ( anemia ) จำเป็นที่ต้องให้เลือด ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ( hypoglycemia ) จำเป็นที่ต้องให้ glucose
3. อายุ นกที่อายุมาก มักพบภาวะ atheroma และ arteriosclerosis ในเส้นเลือดหลักๆ ซึ่งเราไม่สามารถที่จะตรวจพบได้ในขณะที่มีชีวิต โดยเฉพาะตระกูลนกแก้ว ( 35-40 ปี ) ที่มักจะอ้วนและพบได้บ่อย
4. ความแข็งแรงของตัวนก นกที่เลี้ยงในกรงขนาดเล็กจะมีความแข็งแรงน้อยกว่านกที่เลี้ยงในกรงขนาดใหญ่
5. การตรวจระบบทางเดินหายใจและระบบเลือด ดูว่ามีความผิดปกติหรือไม่ เช่น มีการอ้าปากหายใจ หายใจเข้าออกลำบาก ยึดคอหายใจ การกระดกของหาง ในสภาพขณะพัก โดยเฉพาะในนกแก้ว สามารถพบโรคทางดินหายใจเรื้อรัง ซึ่งจะมีผลต่อการหายใจ จำเป็นที่ต้องมีการแก้ไขให้เป็นปกติเสียก่อน
6. สภาพของร่างกาย ภาวะทางโภชนาการหรือพลังงานสะสมในร่างกาย ( glycogen reserve ) สภาพที่ผอมหรืออ้วนเกินไปมีผลต่อการวางยาสลบและการสูญเสียความร้อน
7. สภาพขาดน้ำ ประเมินสภาพขาดน้ำ โดยดูจากลักษณะของอุจจาระ เพื่อดูการขับถ่ายของไต ถ้าสงสัยให้ทำการตรวจเลือด นอกจากนี้อาจดูได้จาก สภาพของผิวหนัง, ขา ( แข้ง ) และ เยื่อเมือก 
         การขาดน้ำในนกเช่นเดี่ยวกับในสัตว์เลื้อยคลาน คือ uric acid ที่เพื่มสูงขึ้นนั้นบ่งบอกถึงระดับของการขาดน้ำได้ ที่อาจเป็นผลมาจาก renal damage และ gout8. สภาพช่องท้อง ทำการคลำดูว่ามีก้อนเนื้ออะไรหรือไม่ที่อาจส่งผลต่อการหายใจ เช่น ก้อนเนื้องอก ไข่ค้างในช่องท้อง9. กระเพาะพัก ( crop ) นกที่มีอาหารอยู่เต็มอาจมีการขย้อนออกมาได้ในขณะที่วางยาสลบ นอกจากนี้นกเป็นสัตว์ที่มี Preserve Reflex และนกเป็นสัตว์ที่ตื่นตกใจได้ง่าย ในนกที่ตื่นตกใจหรือกลัวจะมีการหลั่ง adrenaline ออกมาก่อให้เกิด anxiety ในระหว่างการวางยาสลบ ดั้งนั้นควรมีการเลื่อนการวางยาออกไป ประมาณ 48 ชั่วโมง ที่สำคัญที่สุดนกที่มีอาการป่วยอยู่นั้น ควรต้องที่ทำการรักษาให้หายก่อนทำการวางยาสลบและการผ่าตัด



ข้อคำนึงทางสรีระวิทยาของนกในการวางยา
1. ปอดนกยึดติดแน่นกับช่องอก มีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและไม่สามารถขยายขนาดและหดตัวได้ในระหว่างการหายใจ ปริมาณความจุของปอดจึงคงที่ มีเส้นเลือดมาเลี้ยงเป็นร่างแหขนาดของท่อลมที่มีขนาดเล็กและไม่สามารหดยืดได้ (collapsible) ทำให้มีความแตกต่างของความดันในการแพร่ผ่านของแก๊สที่สูงถึง 10-20 เท่า เมื่อเทียบกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในอัตราส่วนน้ำหนักตัวที่เท่ากัน อีกทั้งการที่กระแสเลือดวิ่งสวนทางกับการไหลเวียนของแก็สทำให้การแลกเปลี่ยนแก็สได้ดียิ่งขึ้นด้วย
2. ถุงลม ในนกมีถุงลมอยู่ทั้งหมด 9 อัน ถุงลมในนกนั้นไม่มีส่วนในการแลกเปลี่ยนแก๊ส เพียงแค่เป็นส่วนที่สำรองอากาศและเป็นตัวผลักดันให้มีการไหลเวียนของแก๊สไปในทิศทางเดี่ยวกัน โดยเฉพาะในระหว่างที่บิน จะมีแรงกดจากกล้ามเนื้อและการเคลื่อนไหวเป็นจังหวะของรยางค์และส่วนอื่นของร่างกายเป็นตัวผลักดัน ทั้งนี้เพราะนกไม่มีกระบังลม ถุงลมจะมีการเชื่อมต่อกับปอดและกระดูก เมื่อมีการหายใจ แก๊สที่หายใจเข้าจะมีการผ่านปอดสองครั้ง แต่ในคนละทิศทาง ซึ่งในนกนั้นลักษณะการหายใจจะมีอยู่สองจังหวะหรือสองครั้งด้วยกัน คือ เมื่อนกหายใจเข้า แก๊สส่วนหนึ่งจะผ่านเข้าไปในปอด ประมาณ 50 % ส่วนอีก 50 % ที่เหลือจะผ่านเข้าไปในถุงลมส่วนหลัง ( posterior air sac ) และเมื่อนกมีการหายใจออกแก๊สที่อยู่ในถุงลมส่วนหลังจะผ่านเข้าปอด จากนั้นเมื่อนกมีการหายใจเข้าอีกครั้งแก๊สในปอดจะจะเข้าไปในถุงลมส่วนหน้า ( anterior air sac ) และเมื่อนกหายใจออกแก๊สนั้นจะออกสู่บรรยากาศภายนอกต่อไป โดยที่การแลกเปลี่ยนแก๊สทั้งหมดจะเกิดภายในปอด ดังนั้น ยาสลบที่ให้ครึ่งหนึ่งจะเขาปอดและอีกครึ่งจะเข้าไปในถุงลมส่วนหลัง การที่มีการแลกเปลี่ยนแก๊สถึงสองครั้งนี้ ทำให้นกมีประสิทธิภาพในการการแลกเปลี่ยนแก๊สได้ดีกว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม และ การใช้ยาสลบในการ induction และระดับการสลบเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว
3. การที่ปอดนกไม่ได้ขยายตัว การวัดระดับของ PaCO2 ของ chemoreceptor มีความสำคัญมากกว่า machanoraceptor ที่ดูจากความดัน ดังนั้นในนกมีความไวต่อ hypercapnia ดังนั้นต้องคงปริมาตรก็าซอ็อกซิเจนที่ไหลระหว่างการดมยาอย่างน้อยมากกว่า 3 เท่าของปริมาณปรกติ ได้มีการกำหนดปริมาณปรกติ minute volume ไว้ดังนี้ (Klide , 1973)
ไก่ที่มีน้ำหนัก 2.5 กก. minute volume ที่ 770 มล. / นาที
นกพิราบหนัก 300 กรัม minute volume ที่ 250 มล. / นาที
นกขนาดเล็กที่หนัก 30 กรัม minute volume ที่ 25 มล. / นาที 
         ในทางปฏิบัติเราใช้อัตราการไหลของออกซิเจนไม่น้อยกว่า 1.001 / นาที ในนกขนาดเล็ก และที่ 31 / นาทีในไก่ ผลของ hypoxia จะมีความแตกต่างในระหว่างนกแต่ละชนิด แต่โดยทั่วไปปริมาณการใช้อ็อกซิเจนในนกจะสูงมากกว่าในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 
         ดังนั้นจึงต้องให้อ็อกซิเจนตลอดการวางยาไม่ว่าจะเป็นการดมหรือการใช้ยาฉีดก็ตาม รวมทั้งนกที่มีขนาดลิ้นที่ใหญ่ การถอยหลังลงไปกดที่ส่วนคอหอยเกิดได้จึงควรสอดท่อหลอดลมเสมอ ยาที่ใช้ในการวางยาสลบจะมีผลต่อการกดศูนย์การหายใจด้วย 
         ภาวะที่อุณหภูมิต่ำ (Hypothermia) จะกดการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ จากที่ปริมาณพื้นที่ผิวภายในถุงลมที่มีมาก ทำให้มีการสูญเสียของเหลวระหว่างการผ่าตัดที่ยาวนาน ในนกที่มีการสูญเสียน้ำจะมีอันตรายและทำให้เกิดการลดลงของปริมาณไหลเวียนเลือดทำให้ปริมาณ cardiac output ลดลง ปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยงเซลล์ลดลงและเกิด anaerobic respiration เกิดภาวะ metabolic acidosis ตามมา ภาวะหัวใจล้มเหลวระหว่างการวางยาสลบเกิดได้เนื่องจากภาวะ hypocapnia, hypoxia, hypothermia ยาสลบที่ใช้ ภาวะการขาดน้ำ และตำแหน่งการวางนก



ข้อควรระวังในการวางยาสลบในนก
1. น้ำหนักตัวนก 
          การวางยาสลบในนกแต่ละครั้งควรต้องทำการช่างน้ำหนักนก เพื่อให้ได้น้ำหนักจริงที่ถูกต้อง ที่จะนำไปใช้ในการคำนวณขนาดของยาที่ใช้ ที่เหมาะสมกับตัวนก ทั้ง ยาสลบ ยาลดความเจ็บปวด ยาต้านจุลชีพ และ สารน้ำที่ให้ 
2. ความร้อน 
          ควรต้องมีการให้ความอบอุ่นแก่ตัวนก ทั้งก่อนการวางยาสลบ ระหว่างการสลบและ การฟื้นสลบ รวมถึงในการผ่าตัดด้วย ซึ่งนกโดยทั่วไปจะมี core body temperature ( CBT ) ที่ 40-44 oC ที่เกิดจากการ metabolism ภายในร่างกาย นกที่ป่วยหรือเกิดภาวะ hypoglycemia จะไม่สามารถรักษา CBT ไว้ได้ ตลอดจนการสูญเสียความร้อนไปในระหว่างการผ่าตัด 
3. การให้สารน้ำ 
          ในสภาวะการขาดน้ำหรือการผ่าตัดที่ใช้เวลานาน มากกว่า 20 นาที จำเป็นที่ต้องมีการให้สารน้ำ โดยสารน้ำที่ให้ คือ 2.5 % หรือ 5 % Dextrose บวกกับ saline ในอัตราส่วน 1 ต่อ 1 และอุณหภูมิของสารน้ำที่ให้จะอยู่ที่ 37-40 oC อัตราการให้ ในนกขนาดเล็ก เช่น นกหงษ์หยกน้ำหนัก 30 กรัม ให้ 0.1 ml ส่วนในนกขนาด 1 กิโลกรัม ให้ 1 ml ต่อกิโลกรัม ทุก 10 นาที หรือชั่วโมง การให้สารน้ำที่ดีควรให้ทางเส้นเลือดดำ ( IV ) หรือ Intraosseous 
4. การให้เลือด 
          ในกรณีที่มีภาวะเลือดจาง การให้เลือดในนกสามารถที่จะให้เลือดจากนกที่ต่างชนิดกันได้โดยสามารถที่จะให้ได้อย่างปลอดภัยในกรณีที่การให้เลือดนั้นเป็นครั้งแรกของนก แต่ในครั้งต่อไปต้องมีการตรวจความเข้ากันได้ของเลือดเสียก่อน
5. การงดอาหาร 
          ทั้งก่อนการวางยาสลบและการผ่าตัด ในนกขนาดเล็กที่มีน้ำหนักน้อยกว่า 100 กรัม อาจไม่ต้องงดอาหารเลย นกที่มีน้ำหนักระหว่าง 100-300 กรัม งดอาหาร 3-4 ชั่วโมง นกที่มีน้ำหนักระหว่าง 300-1,000 กรัม งดอาหาร 6 ชั่วโมง นกที่มีน้ำหนักระหว่าง 1,000 กรัม งดอาหาร 12 ชั่วโมง ทั้งนี้นกมี metabolism ที่สูงและไม่สามารถที่จะเก็บสะสม glycogen ไว้ในร่างกายเป็นจำนวนมากได้ ดังนั้นการงดอาหารอาจไม่มีความจำเป็นมากนัก
6. การวางยาสลบ 
          ไม่ว่าจะทำการวางยาด้วยยาอะไรก็ตาม ควรต้องทำการให้ออกซิเจนไว้เสมอ ถ้ามีการสงสัยว่ามีอาหารอยู่ในกระเพาะพัก ให้ใช้สำลีพันปลายไม้ล้วงลงไปในหลอดอาหารส่วนต้น 
7. อัตราการไหลเวียนของออกซิเจนที่ให้ 
          ควรให้ในอัตราที่สูงดีกว่าให้ในอัตราที่ต่ำ 
8. อัตราการหายใจ 
          ต้องไม่ต่ำจนเกินไป และ คงที่ ในระดับของการสลบที่ต่ำ
9. ท่าที่มีความปลอดภัย 
          คือ ท่านอนคว่ำ หรือ ท่านอนตะแคงข้าง
10. การถอนขนในบริเวณที่จะทำการผ่าตัด 
          ไม่ควรถอนขนออกมากเกินไป หรืออย่าให้มีการเปียกน้ำมากในขณะที่มีการทำความสะอาดหรือผ่าตัด
11. บริเวณที่มีเมือกหรือสิ่งคัดหลั่งมาก 
          ให้ทำการใช้ capillary tube ในการดูดออก โดยเฉพาะในส่วนของ oropharynx 
12. กรณีที่มีเมือกหรือสิ่งคัดหลั่งจำนวนมาก 
          ทำการดูดออกโดยใช้กระบอกฉีดยาต่อกับสายยางในการดูดออก เพื่อป้องกันการอุดตัน
13. Atropine 
          ไม่แนะนำให้ใช้ในการเป็น premedication เพราะจะไปเป็นการเพื่มความเข็มข้นของสิ่งคัดหลั่ง โดยเฉพาะในทางเดินหายใจส่วนต้น ยับยั้ง PaCO2 chemorecepter เหนี่ยวนำให้เกิดการกดการหายใจ แต่อาจให้ได้ในกรณี bradycardia ขนาดที่ให้ คือ 0.04-0.1 mg/kg
14. การจัดท่า 
           ทำการดึงปีกออกแต่อย่ายึดปีกให้แน่นและนานเกินไป เพราะอาจทำความเสียหายและกระตุ้นเส้นประสาท brachial plexus นอกจากนี้การวางยาในระดับอ่อนหรือการให้ยาที่ไม่คลายตัวของกล้ามเนื้อเต็มที่ในส่วนของ pectoralis muscle การเคลื่อนไหวของอกอาจถูกจำกัดได้ ส่วนข้อดี คือ ป้องกันการเกิด bradycardia โดยผ่านทางการกระตุ้นเส้นประสาท vagus nerve ที่เป็นผลมาจากการดึงอวัยวะภายในช่องท้อง
15. การสอดท่อลม ( endotracheal tube ) 
           ในนกนั้นทำได้ไม่ยาก ท่อที่สอดนั้นไม่ควรหล่อลื่นด้วยเจลเพราะอาจทำให้เกิดเป็นก้อนอุดตันที่หลอดลม ที่สำคัญที่สุดคือ โครงสร้างของหลอดลมของนกนั้นเป็นโครงสร้างกระดูกอ่อนรูปวงแหวนและเชื่อมต่อกันเป็นวงจึงไม่สามารถขยายออกได้จึงต้องระวังการขยายมากไปที่อาจทำให้หลอดลมฉีดขาดได้ และให้ใช้ท่อสอดหลอดลมแบบ uncuffued เท่านั้น การสอดท่อลมบ้างครั้งต้องมีการใช้ stylet ช่วยในการสอด


 


By: อ.น.สพ.เฉลิมชาติ สมเกิด

No comments: