Wednesday, December 12, 2007

ตอนที่หนึ่ง .. ไก่ชนนั้น สำคัญไฉน








By: หมอแก้ว เจแปน


ตอนที่หนึ่ง .. ไก่ชนนั้น สำคัญไฉน


ในวัยเด็กของผม ผมมองเห็นว่าไก่เป็นของคู่บ้านจริงๆ แทบทุกบ้านจะเลี้ยงไก่บ้านไว้บริโภค และมีไก่ชนเลี้ยงไว้เพื่อชนในวันหยุด ภาพที่ชินตาตอนเช้า ก็จะเห็นเขาอาบน้ำไก่และซ้อมไก่ ไก่ตัวไหนเชิงดี รูปร่างสวย มีเกล็ดพิฆาตก็จะมีคนมาห้อมล้อม วิพากษ์วิจารณ์ เป็นการรวมกลุ่มนักเลงไก่ทีเดียว บางครั้งก็อาจจะมีการลองชนจริงเบาๆกับไก่เพื่อนบ้านพอเป็นพิธีเพื่อหยั่งเชิง ว่าไก่ตนพร้อมจะลงสนามใหญ่ได้ไหม เสียงไก่ขัน และควันจากเตาถ่านรวมทั้งไอน้ำต้มสมุนไพรจึงเป็นของคู่ชนบท จวบจนปัจจุบันสิ่งเหล่านั้นก็ไม่ได้จางหายไป แต่กลับดูเอาจริงเอาจังยิ่งขึ้น จากเลี้ยงตามบ้านไม่กี่ซุ้มไก่ ก็กลายเป็นโรงเรือนมาตรฐาน มีการเพาะเลี้ยง พัฒนาสายพันธุ์ รวมทั้งการนำเข้าสายพันธุ์จากต่างประเทศเพื่อนบ้าน อย่างพม่า หรือเวียตนาม ราคาไก่ที่เคยซื้อขายอย่างง่าย หรือแลกเปลี่ยนกัน ก็กลายเป็นเรือนหมื่นเรือนแสน แสดงให้เห็นว่าการชนไก่ยังได้รับความนิยมอย่างไม่ได้ลดลงเลย แต่วิธีการดูแลไก่ก็ยังเป็นวิธีเดิม และดูจะเหมาะกับไก่นักกีฬาแบบนี้ หมอไก่ชาวบ้านที่เก่งๆ มีฝีมือก็ยังคงมีมาก การสืบทอดวิชาการดูแลไก่ก็ทำอย่างสืบทอดกันมา หรือไม่ก็ครูพักลักจำกัน เพราะใครๆ ก็หวงวิชาเหล่านี้ทั้งนั้น สนามชนไก่จะพบเห็นหมอเหล่านี้ได้ การกรีดเลือดช้ำ เย็บแผล อาบน้ำไก่ด้วยขมิ้นสมุนไพร ประคบช้ำ การต่อและตัดแต่งขนปีกเพื่อให้การบินเตะได้สูงและมีกำลัง เตะทีต้องเตะหน้า เตะคอ หรือเลือกเตะอกคู่ต่อสู้ได้ง่ายยิ่งขึ้น การแต่งหงอนให้เล็กสั้นดูจะเหมาะในการชนหลายประการ ก็ดีกว่าเป็นเป้าเตะและปล่อยให้ช้ำแล้วก็มาแต่งกันทีหลัง การแต่งเดือย พันเดือยพันแข้ง การปั่นคอปั่นท่อน้ำตา เพื่อล้างขี้ตา เสมหะ หรือแม้กระทั่งไก่ที่เป็นโรคคอดอก ไอค็อกๆ ขันเสียงแหบหมดสง่าราศี ไม่สมเป็นไอ้โต้งใหญ่ ก็ต้องโดนปั่นคอเสียด้วยขนไก่นั่นแหละ ดูจะไม่เหมาะเท่าไรแต่ก็ทำให้ไอ้โต้งสบายคอไปได้พักใหญ่ หายใจคล่อง และในปัจจุบันก็มีการนำเครื่องมือแพทย์ รวมทั้งวิธีทางอายุรกรรมของแผนปัจจุบันมาใช้ผสมผสานในการรักษากันมากขึ้น จากที่เคยใช้สมุนไพร ก็เริ่มใช้ยาปฏิชีวนะมารักษาโรค ยาอะไรก็เป็นยาแก้อักเสบไปหมด พอไปเห็นเม็ดยาเข้า ก็ถึงบางอ้อ ยาแก้อักเสบที่ว่ามันก็คือ...นี่เอง หรือไม่ยาหนึ่งขนาน รักษาครอบจักรวาลได้เลยก็ยังมี เคยใช้กระเบื้องลนไฟประคบก็เปลี่ยนเป็นน้ำมันนวดสรรพคุณต่างๆ มีดเก่าๆลนไฟกรีดแผลก็เป็นมีดผ่าตัด ชุบแอลกอฮอล์ลนไฟ ไม่ว่าจะกรรไกร คีมจับก็อย่างที่หมอปัจจุบันใช้ทั้งนั้น ขืนทำไม่ดีอกไก่ช้ำแต่เดิมไม่นานก็กลายเป็นโรคปรวดน้ำ หนองเขอะ รักษากันอย่างยากลำบากในทีหลัง
การรักษาแบบแผนปัจจุบันโดยชาวบ้านก็มีการพัฒนาในทางที่ดีขึ้นตามลำดับ มีการศึกษาทำความเข้าใจกันมาก อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการเลี้ยงไก่ชนมีจำนวนมากขึ้น และเป็นธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนสูง เจ้าของจึงมีความตระหนักในการป้องกันและรักษาโรคไก่ชนอย่างเหมาะสมมากขึ้น เพื่อสร้างความมั่นใจกับฟาร์มของตัวเอง สัตวแพทย์แผนปัจจุบันจึงเป็นทางเลือกอีกทางที่มีความสำคัญมากขึ้นทุกวัน และสัตวแพทย์ที่สนใจด้านนี้ก็มีมากขึ้นเช่นกัน เพียงแต่ไม่รู้ว่าควรจะเริ่มต้นอย่างไร หาอ่านตำราเพิ่มเติมความรู้ได้ที่ไหน รวมทั้งการสื่อสารกับเจ้าของในศัพท์ไก่ชน เช่น โรคลงพื้น หน่อ คอดอก ปรวด อมพนำ ดูจะเป็นคำใหม่สำหรับเรา แต่ใช้ในวงการไก่ชนมานานแสนนาน จึงมีคำถามจากเพื่อนสัตวแพทย์มากมายว่าสิ่งเหล่านี้คืออะไร และควรจะจัดการแก้ไขอย่างไรดี ลองตามผมมาสิ ผมจะพาเราไปดูโลกของไก่ชนกัน.... (ติดตามตอนต่อไป)








No comments: